วันเสาร์ที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2566

มงคลที่ 21 ไม่ประมาทในธรรม

                   มงคล ที ๒๑ ไม่ประมาทในธรรม

ในการก่อสร้างอาคาร

จำเป็นต้องมีเสาเป็นหลักค้ำจุนตัวอาคารไว้ฉันใด

ในการสร้างความดีทุกชนิด

ก็จำเป็นต้องมีความไม่ประมาท

เป็นแกนหลักรองรับฉันนั้น

******************************* 

ความไม่ประมาท คือ อะไร ?

            ความไม่ประมาท คือการมีสติกำกับตัวอยู่เสมอ ไม่ว่าจะคิด จะพูด จะทำสิ่งใดๆ ไม่ยอมถลำลงไปในทางที่เสื่อม และไม่ยอมพลาดโอกาสในการทำความดี ตระหนักดีถึงสิ่งที่ต้องทำ ถึงกรรมที่ต้องเว้น ใส่ใจสำนึกอยู่เสมอในหน้าที่ ไม่ปล่อยปละละเลย กระทำอย่างจริงจังและดำเนินรุดหน้าตลอดเวลา

            ความไม่ประมาทเป็นคุณธรรมที่สำคัญยิ่ง กล่าวได้ว่าคำสอนในพระ-พุทธศาสนาทั้งหมด เมื่อสรุปแล้วก็คือคำสอนให้เราไม่ประมาท ดังจะเห็นได้จากปัจฉิมโอวาทของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คือ

 

            “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บัดนี้เราจะเตือนเธอทั้งหลาย สังขารทั้งหลายเป็นของไม่เที่ยง มีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา เธอทั้งหลายจงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อมเถิด”

(มหาปรินิพพานสูตร)  ที. ม. ๑๐/๑๔๓/๑๘๐

 

ไม่ประมาทในธรรมหมายความว่าอย่างไร ?

            คำว่า “ธรรม” ในที่นี้หมายถึง คำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เวลาแปลเอาความท่านแปลว่าเหตุ  หมายถึงต้นเหตุ  ข้อธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าทุกข้อ ถ้าดูให้ดีแล้วล้วนแต่เป็นคำบอกเหตุทั้งสิ้นคือ บอกว่าถ้าทำเหตุอย่างนี้แล้ว จะเกิดผลอย่างนั้น เช่น ความขยันหมั่นเพียรเป็นเหตุให้เกิดความเจริญ ความเกียจคร้านเป็นเหตุให้เกิดความเสื่อม

            ดังนั้น ไม่ประมาทในธรรม จึงหมายถึง ไม่ประมาทในเหตุ ให้มีสติรอบคอบ  ตั้งใจทำเหตุที่ดีอย่างเต็มที่  เพื่อให้บังเกิดผลดีตามมานั่นเอง

ลักษณะของผู้ที่ยังประมาทอยู่

            ๑. พวกกุสีตะ คือพวกไม่ทำเหตุดีแต่จะเอาผลดี เป็นพวกเกียจคร้าน เช่น เวลาเรียนไม่ตั้งใจเรียนแต่อยากสอบได้ งานการไม่ทำ แต่ความดีความชอบจะเอา ไม่ทำประโยชน์แก่ใคร แต่อยากให้คนทั้งหลายนิยมชมชอบทานศีลภาวนาไม่ปฏิบัติ  แต่อยากไปสวรรค์ไปนิพพาน ฯลฯ

            ๒. พวกทุจริตะ คือพวกทำเหตุเสียแต่จะเอาผลดี เป็นพวกทำอะไรตามอำเภอใจ แต่อยากได้ผลดี เช่น ทำงานเหลวไหลเสียหาย แต่พอถึงเวลาพิจารณาผลงานอยากได้เงินเดือนเพิ่ม ๒ ขั้น  ปากเสียเที่ยวด่าว่าชาวบ้านทั่วเมือง  แต่อยากให้ทุกคนรักตัว ฯลฯ

            ๓. พวกสิถิละ คือพวกทำเหตุดีเล็กน้อยแต่จะเอาผลดีมากๆ เป็นพวกค้ากำไรเกินควร  เช่น จุดธูป ๓ ดอกบูชาพระ แต่จะเอาสวรรค์วิมาน มีนางฟ้าเทวดาคอยรับใช้นับหมื่นนับแสน  อ่านหนังสือแค่ ๑ ชั่วโมง  แต่จะเอาที่ ๑ ในชั้น  เลี้ยงข้าวเขาจานหนึ่ง  แต่จะให้เขาจงรักภักดีต่อตัวไปจนตาย

            รวมความแล้วผู้ที่ยังประมาทอยู่มี ๓ จำพวก  คือ

พวกไม่ทำเหตุดีแต่จะเอาผลดี 

พวกทำเหตุเลวแต่จะเอาผลดี 

พวกทำเหตุน้อยแต่จะเอาผลมาก 

             ส่วนผู้ไม่ประมาทในธรรม  มีคุณสมบัติตรงข้ามกับคน ๓ จำพวกดังกล่าว  คือจะต้องไม่เป็นคนดูเบาในการทำเหตุ ต้องทำแต่เหตุที่ดี ทำให้เต็มที่ และทำให้สมผล ผู้ที่ไม่ประมาททุกคนจะต้องมีสติอยู่เสมอ

 

สติ คือ อะไร ?

            สติ คือความระลึกนึกได้ถึงความผิด-ชอบ-ชั่ว-ดี เป็นสิ่งกระตุ้น เตือนให้คิดพูดทำในสิ่งที่ถูกต้อง  ทำให้ไม่ลืมตัว  ไม่เผลอตัว  ใช้ปัญญาพิจารณา ใคร่ครวญสิ่งต่างๆ ได้

 

หน้าที่ของสติ

            ๑.สติเป็นเครื่องทำให้เกิดความระมัดระวังตัว ป้องกันภัยที่จะมาถึงตัว  คือระแวงในสิ่งที่ควรระแวง  และระวังป้องกันภัยที่จะมาถึงในอนาคต

            ความระแวง  หมายถึง ความกริ่งเกรงล่วงหน้าว่าจะมีความเสียหาย อันใดเกิดขึ้น  เช่น  คนขับรถขณะฝนกำลังตก  ถนนลื่น  ก็ระแวงว่ารถจะคว่ำ  ระแวงว่าจะมีรถอื่นสวนมาในระยะกระชั้นชิด

            ส่วนความระวัง  คือการป้องกันไม่ให้ภัยชนิดนั้นๆ เกิดขึ้น  เช่น     ลดความเร็วลง  ตั้งใจขับมากขึ้น  อย่างนี้เป็นต้น

            ๒. สติเป็นเครื่องยับยั้ง เตือนไม่ให้ตกไปในทางเสื่อม 

            ๓. สติเป็นเครื่องกระตุ้นเตือนให้ขวนขวายในการสร้างความดี 

            ๔. สติเป็นเครื่องเร่งเร้าให้มีความขะมักเขม้น  คือเมื่อเตือนตัวเองให้ทำความดี

            ๕. สติเป็นเครื่องทำให้เกิดความสำนึกในหน้าที่อยู่เสมอ 

            ๖. สติเป็นเครื่องทำให้เกิดความละเอียดรอบคอบในการทำงาน  

 

คำอุปมาสติ

            สติเสมือนเสาหลัก เพราะปักแน่นในอารมณ์ คือคนที่มีสติเมื่อจะไตร่ตรองคิดในเรื่องใด ใจก็ปักแน่นคิดไตร่ตรองในเรื่องนั้นอย่างละเอียดถี่ถ้วน ไม่คิดฟุ้งซ่านไปเรื่องอื่น คิดไตร่ตรองจนเข้าใจแจ่มแจ้ง ทะลุปรุโปร่ง ท่านจึงเปรียบสติเสมือนเสาหลัก

            สติเสมือนนายประตู คือเพราะสติจะทำหน้าที่เสมือนนายประตู คอยเฝ้าดูสิ่งต่างๆ ที่จะผ่านเข้ามากระทบใจ ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ตลอดจนเฝ้าดูถึงอารมณ์ที่ใจคิด ถ้าสิ่งใดเกิดขึ้นสติก็จะใคร่ครวญทันทีว่า ควรปล่อยให้ผ่านไปหรือไม่  หรือควรหยุดไว้ก่อน  ปรับปรุงแก้ไขให้ดีเสียก่อน

            สติเสมือนขุนคลัง เพราะคอยตรวจตราอยู่ทุกเมื่อ ว่าของที่ได้เข้ามาและใช้ออกไปมีเท่าไร งบบุญงบบาปของเราเป็นอย่างไร ตรวจตราดูอย่างละเอียดถี่ถ้วน ไม่ยอมให้ตัวเองเป็นหนี้บาป

            สติเสมือนหางเสือ เพราะสติจะเป็นตัวควบคุมเส้นทางดำเนินชีวิตของเราให้มุ่งตรงไปสู่ความสำเร็จตามเป้าหมายที่วางไว้ ไม่หลงไปทำในสิ่งที่ไม่ควรเหมือนคอยระมัดระวังไม่ให้เรือไปเกยตื้น

 

ประโยชน์ของสติ

            ๑.ควบคุมรักษาสภาพจิตให้อยู่ในภาวะที่เราต้องการ   

            ๒.ทำให้ร่างกายและจิตใจอยู่ในสภาพเป็นตัวของตัวเอง 

            ๓.ทำให้ความคิดและการรับรู้ขยายวงกว้างออกไปได้โดยไม่มีสิ้นสุด

            ๔.ทำให้การพิจารณาสืบค้นด้วยปัญญาดำเนินไปได้เต็มที่

            ๕.ชำระพฤติกรรมทุกอย่าง ทั้งกาย วาจา ใจ ให้บริสุทธิ์  

การฝึกสติให้เป็นคนไม่ประมาท

            ๑.มีสติระลึกถึงการละเว้นทุจริตทางกาย วาจา ใจ อยู่เนืองๆ   มิได้ขาด 

            ๒.มีสติระลึกถึงการประพฤติสุจริตทางกาย วาจา ใจ อยู่เนืองๆ มิได้ขาด 

            ๓.มีสติระลึกถึงความทุกข์ในอบายภูมิอยู่เนืองๆ มิได้ขาด 

            ๔.มีสติระลึกถึงความทุกข์ อันเกิดจากการเวียนว่ายตายเกิดของสัตว์ในวัฏสงสารอยู่เนืองๆ มิได้ขาด  

            ๕.มีสติระลึกถึงกรรมฐานภาวนาที่จะละราคะ โทสะ โมหะ ให้ขาดจากสันดานอยู่เนืองๆ มิได้ขาด  

 

สิ่งที่ไม่ควรประมาทอย่างยิ่ง

            ๑. ไม่ประมาทในเวลา 

            ๒.ไม่ประมาทในวัย 

            ๓.ไม่ประมาทในความไม่มีโรค  

            ๔.ไม่ประมาทในชีวิต อย่างทุ่มเทไม่ออมมือ ทำงานไม่ให้คั่งค้าง ไม่ท้อถอย ไม่ผัดวันประกันพรุ่ง

            ๖.ไม่ประมาทในการศึกษา    

             ๗.ไม่ประมาทในการปฏิบัติธรรม 

อานิสงส์การไม่ประมาทในธรรม

            ๑. ทำให้ได้รับมหากุศล

            ๒.ทำให้ได้ชื่อว่าเป็นผู้ไม่ตายสมดังพุทธวจนะ

            ๓.ทำให้ไม่ตกไปสู่อบายภูมิ

            ๔.ทำให้คลายจากความทุกข์

            ๕.ทำให้เพลิดเพลิน ไม่เบื่อหน่ายในการสร้างความดี

            ๖.ย่อมมีสติอันเป็นทางมาแห่งการสร้างกุศลอื่นๆ

            ๗.ย่อมได้รับความสุขในการดำรงชีพ

            ๘.เป็นผู้ตื่นตัว ไม่เพิกเฉยละเลยในการสร้างความดี

            ๙.ความชั่วความไม่ดีต่างๆ ย่อมสูญสิ้นไปโดยเร็ว

ฯลฯ

“ปมาโท มจฺจุโน ปทํ

ความประมาท เป็นทางแห่งความตาย

อปฺปมาโท อมตํ ปทํ

ความไม่ประมาท เป็นทางอมตะ”

ขุ. ธ. ๒๕/๑๒/๑๘

 

“เวลาใด บัณฑิตกันความประมาทด้วยความไม่ประมาท

เมื่อนั้น เขานับว่าได้ขึ้นสู่ปราสาท คือปัญญา

ไร้ความเศร้าโศก สามารถมองเห็นประชาชนผู้โง่เขลา

ผู้ยังต้องเศร้าโศกอยู่

เสมือนคนยืนอยู่บนยอดเขา

มองลงมาเห็นฝูงชน ที่ยืนอยู่บนพื้นดินฉะนั้น”

ขุ. ธ. ๒๕/๑๒/๑๘

 

 

หนังสือมงคลชีวิต 38 ประการ ฉบับทางก้าวหน้า

 โดย พระมหาสมชาย ฐานวุฑโฒ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย

มงคลที่ 20 สำรวมจากการ ดื่มน้ำเมา

           มงคล ที่ ๒๐ สำรวมจากการดื่มน้ำเมา

ไม้ขีดเพียงก้านเดียว

อาจเผาผลาญเมืองทั้งเมืองให้มอดไหม้ไปได้ฉันใด 

น้ำเมาเพียงเล็กน้อย

ก็อาจทำลายทุกสิ่งทุกอย่างของเราได้ฉันนั้น

**********************

สำรวมจากการดื่มน้ำเมาหมายถึงอะไร ?

น้ำเมา  โดยทั่วไปหมายถึงเหล้า แต่ในที่นี้หมายถึง ของมึนเมาให้โทษทุกชนิด ไม่     ว่าจะเป็นน้ำหรือแห้ง รวมทั้งสิ่งเสพย์ติดทุกชนิด

ดื่ม       ในที่นี้หมายถึง การทำให้ซึมซาบเข้าไปในร่างกาย ไม่ว่าจะโดยวิธี ดื่ม ดม อัด นัตถุ์ สูบ ฉีด ก็ตาม

            สำรวม หมายถึง ระมัดระวังในนัยหนึ่ง และเว้นขาดในอีกนัยหนึ่ง


เหตุที่ใช้คำว่าสำรวม

            พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประเภทมีเหตุผล บางศาสนาเห็นโทษของเหล้า เห็นโทษของแอลกอฮอล์  แต่ในพระพุทธศาสนา พระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ได้ห้ามเหมารวมหมดอย่างนั้น เพราะทรงมองเห็นว่าเหล้าหรือสิ่งเสพย์ติดแม้จะมีโทษมหันต์ แต่ในบางกรณีก็อาจนำมาใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์ได้ เช่น มอร์ฟีนใช้ฉีดระงับความเจ็บปวด หรือยาบางอย่างต้องอาศัยเหล้า สกัดเอาตัวยาออกมาเพื่อใช้รักษาโรค คือเอาเหล้าเพียงเล็กน้อยมาเป็นกระสายยา ไม่มีรส ไม่มีกลิ่นเหล้าคงอยู่ อย่างนี้ในพระพุทธศาสนาไม่ได้ห้าม  

                โดยสรุป สำรวมจากการดื่มน้ำเมาจึงหมายถึง การระมัดระวังเมื่อต้องใช้สิ่งเสพย์ติดทั้งหลายในการรักษาโรค และเว้นขาดจากการเสพสิ่งเสพย์ติดให้โทษทุกชนิดไม่ว่าโดยวิธีใดก็ตาม


โทษของการดื่มน้ำเมา

            พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสรุปโทษของการดื่มสุราไว้ ๖ ประการ คือ

            ๑.ทำให้เสียทรัพย์ เพราะไหนจะต้องซื้อเหล้ามาดื่มเอง ไหนจะต้องเลี้ยงเพื่อน งานการก็ไม่ได้ทำ 

            ๒.ทำให้เกิดการทะเลาะวิวาท เพราะดื่มเหล้าแล้วขาดสติไม่สามารถ ควบคุมตนเองได้ 

            ๓.ทำให้เกิดโรคหลายอย่าง ทั้งโรคตับแข็ง โรคกระเพาะ โรคหัวใจ โรคเส้นโลหิตในสมองแตก โรคทางระบบประสาท ฯลฯ

            ๔.ทำให้เสียชื่อเสียง เพราะไปทำสิ่งที่ไม่ดีเข้า ใครรู้ว่าเป็นคนขี้เมา  ก็จะดูถูกเหยียดหยาม ไม่มีใครไว้วางใจ

            ๕.ทำให้แสดงอุจาดขาดความละอาย พอเมาแล้วอะไรที่ไม่กล้าทำ ก็ทำได้ 

            ๖.ทำให้สติปัญญาเสื่อมถอย พอเมาแล้ว จะคิดอะไรก็คิดไม่ออก อ่านหนังสือก็ไม่ถูก 

            “เหล้าจึงผลาญทุกสิ่งทุกอย่าง ผลาญทรัพย์ ผลาญไมตรี ผลาญสุขภาพ  ผลาญเกียรติยศ  ผลาญศักดิ์ศรี  ผลาญสติปัญญา”

            การดื่มน้ำเมา นอกจากจะเป็นการมอมเมาตัวเองวันแล้ว ยังเป็นการบั่นทอนทุกสิ่งทุกอย่างของตนเองอีกด้วย แม้ที่สุดความสุขทางใจที่คนเมาเห็นว่าตนได้จากการเสพสิ่งเสพย์ติดนั้น  ก็เป็นความสุขจอมปลอม

โทษข้ามภพข้ามชาติของการดื่มสุรา

            เหล้าไม่ได้มีโทษเฉพาะชาตินี้เท่านั้น แต่ยังมีโทษติดตัวผู้ดื่มไปข้ามภพข้ามชาติมากมายหลายประการ ตัวอย่างเช่น

            ๑.ทำให้เกิดเป็นคนใบ้ 

            ๒.ทำให้เกิดเป็นคนบ้า 

            ๓.ทำให้เกิดเป็นคนปัญญาอ่อน 

            ๔.ทำให้เกิดเป็นสัตว์เลื้อยคลาน 

วิธีเลิกเหล้าให้ได้เด็ดขาด

            ๑.ตรองให้เห็นโทษ ว่าสุรามีโทษมหันต์

            ๒.ตั้งใจอย่างแน่วแน่ว่าจะเลิกโดยเด็ดขาด ให้สัจจะกับผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือ หรือกับพระภิกษุ

            ๓.สิ่งใดที่จะเป็นสื่อให้คิดถึงเหล้าขนไปทิ้งให้หมด ถือเป็นของเสนียด นำอัปมงคลมาสู่บ้าน                              

            ๔.นึกถึงศักดิ์ศรีตัวเองให้มาก  เป็นคนมีเกียรติยศ เป็นทายาทมีตระกูล นึกถึงศักดิ์ศรีตัวเองอย่างนี้แล้วจะได้เลิกเหล้าได้สำเร็จ

            ๕.เพื่อนขี้เหล้าขี้ยาทั้งหลาย พยายามหลีกเลี่ยงออกห่าง 

 

อานิสงส์การสำรวมจากการดื่มน้ำเมา

            ๑. ทำให้เป็นคนมีสติดี

            ๒. ทำให้ไม่ลุ่มหลง ไม่มัวเมา

            ๓. ทำให้ไม่เกิดการทะเลาะวิวาท

            ๔. ทำให้รู้กิจการทั้งในอดีต ปัจจุบัน อนาคตได้รวดเร็ว

            ๕. ทำให้ไม่เป็นบ้า ไม่เป็นใบ้ ไม่เป็นคนปัญญาอ่อน

            ๖. ทำให้มีแต่ความสุข มีแต่คนนับถือยำเกรง

            ๗. ทำให้มีชื่อเสียง เป็นที่รักใคร่ของคนทั่วไป

            ๘. ทำให้ไม่หลงทำร้ายผู้มีพระคุณ

            ๙. ทำให้มีหิริโอตตัปปะ

         ๑๐. ทำให้มีความเห็นถูก มีปัญญามาก

         ๑๑. ทำให้บรรลุมรรคผลนิพพานโดยง่าย

ฯลฯ

            

 

หนังสือมงคลชีวิต 38 ประการ ฉบับทางก้าวหน้า

 โดย พระมหาสมชาย ฐานวุฑโฒ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย






มงคล ที่ ๑๙ งดเว้นบาป

                                     มงคล ที่ ๑๙ งดเว้นบาป

ก่อนจะแต่งตัวให้สวยงาม 

เราจำต้องอาบน้ำชำระล้างสิ่งสกปรกออกก่อนฉันใด

ก่อนจะปรับปรุงใจให้สะอาดบริสุทธิ์

มีคุณธรรมสูงขึ้น

เราก็จำต้องงดเว้นจากบาปทั้งปวงก่อนฉันนั้น

********************

บาป คือ อะไร ?

            อาการเสียของจิตแยกได้หลายอย่าง เช่น จิตเศร้าหมอง จิตเหลวไหล ใจร้าย ใจดำ ใจขุ่นมัว ฯลฯ  แล้วแต่จะบอกอาการทางไหน คำว่า เศร้าหมอง เหลวไหล ต่ำทราม ร้ายกาจ เป็นคำบอกว่าจิตเสีย  ซึ่งสิ่งที่ทำให้จิตเสียนี้ทางพระพุทธศาสนาท่านใช้คำสั้นๆ ว่า  ”บาป”  คำว่าบาปจึงหมายถึง สิ่งที่ทำให้จิตเสีย คือมีคุณภาพต่ำลงนั้นเอง ไม่ว่าจะเสียในแง่ไหนก็เรียกว่าบาปทั้งสิ้น

กำเนิดบาป

            การกำเนิดของบาป ในทัศนะของศาสนาอื่น เช่น คริสต์ อิสลาม ฮินดู ต่างกับของศาสนาพุทธอย่างมาก เช่น แนวคิดในศาสนาคริสต์ก็ดี อิสลามก็ดี สอนว่าบาปจะเกิดเมื่อผิดคำสั่งของพระผู้เป็นเจ้า 

ตามความเชื่อของเขา บาปยังมีการตกทอดไปถึงลูกหลานได้อีกด้วย 

            สำหรับพระพุทธศาสนานั้น  เนื่องจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงฝึกสมาธิมาอย่างดีเยี่ยมไม่มีผู้ใดเสมอเหมือน  เป็นผลให้พระองค์ทรงเห็นและรู้จักธรรมชาติของกิเลส อันเป็นต้นเหตุแห่งบาปทั้งหลายได้อย่างถูกต้องตามความเป็นจริง และสามารถกำจัดกิเลสเหล่านั้น ออกไปได้โดยสิ้นเชิงและเด็ดขาด พระองค์ได้ตรัสสรุปเรื่องการกำเนิดของบาปไว้อย่างชัดเจนว่า

“นตฺถิ ปาปํ อกุพฺพโต

บาปย่อมไม่มีแก่บุคคลผู้ไม่ทำบาป”

ขุ. ธ. ๒๕/๑๙/๓๑

“อตฺตนา ว กตํ ปาปํ อตฺตนา สงฺกิลิสฺสติ

ใครทำบาป คนนั้นก็เศร้าหมองเอง”

“อตฺตนา อกตํ ปาปํ อตฺตนา ว วิสุชฺฌติ

ใครไม่ทำบาป คนนั้นก็บริสุทธิ์”

บาปเป็นเรื่องเฉพาะตัว ไม่ใช่สิ่งติดต่อกันได้ ใครทำบาปคนนั้นก็ได้บาป ใครไม่ทำบาปก็รอดตัวไป พ่อทำบาปก็เรื่องของพ่อ ลูกทำบาปก็เรื่องของลูก คนละคนกัน เปรียบเหมือนพ่อกินข้าวพ่อก็อิ่ม ลูกไม่ได้กินลูกก็หิว หรือลูกกินข้าวลูกก็อิ่ม พ่อไม่ได้กินพ่อก็หิว ไม่ใช่พ่อกินข้าวอยู่ที่บ้าน ลูกอยู่บนยอดเขาแล้วจะอิ่มไปด้วย เพราะเป็นเรื่องเฉพาะตัว  ใครทำใครได้

            ดังนั้นตามความเห็นของพระพุทธศาสนา บาปจึงเกิดที่ตัวคนทำเอง คือเกิดที่ใจของคนทำ  ใครไปทำชั่ว  บาปก็กัดกร่อนใจของคนนั้นให้เสียคุณภาพ เศร้าหมองขุ่นมัวไป  ทำให้เกิดความทุกข์ทรมานไป  ไม่เกี่ยวกับคนอื่น

*************************

วิธีล้างบาป

           ศาสนาที่เชื่อพระเจ้า เชื่อผู้สร้างผู้ศักดิ์สิทธิ์  สอนว่าพระเจ้าทรงไว้ซึ่งสิทธิ์ขาดที่จะยกเลิกบาปให้ใครๆ ได้โดยการไถ่บาป  ขออย่างเดียวให้ผู้นั้นภักดีต่อพระผู้เป็นเจ้าก็แล้วกัน

            แต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ทรงรู้แจ้งโลกหาใครเสมอเหมือนมิได้ ตรัสสอนว่า

“สุทฺธิ อสุทฺธิ ปจฺจตฺตํ

ความบริสุทธิ์หรือไม่บริสุทธิ์  เป็นเรื่องเฉพาะตัว”

“นาญฺโญ  อญฺญํ วิโสธเย

ใครจะไถ่บาป  ทำให้คนอื่นบริสุทธิ์ไม่ได้”

ขุ. ธ. ๒๕/๒๒/๓๗

 

            พระพุทธวจนะทั้งหมดนี้ปฏิเสธทัศนะที่ว่า บาปของคนหนึ่งจะตกทอด ไปยังอีกคนหนึ่งได้  และปฏิเสธลัทธิที่ว่า  บาปที่คนหนึ่งทำแล้วจะมีผู้หนึ่งผู้ใดมาไถ่ถอนให้ได้      

             วิธีแก้บาปในพระพุทธศาสนาก็คือ การหยุดทำบาป  แล้วตั้งใจทำความดีสั่ง-สมบุญให้มากเข้าไว้  ให้บุญกุศลนั้นมาทำให้ผลบาปทุเลาลงไป  การทำบุญอุปมาเสมือนเติมน้ำ ทำบาปอุปมาเสมือนเติมเกลือ เมื่อเราทำบาป บาปนั้นก็ติดตัวเราไป ไม่มีใครไถ่บาปแทนได้ แต่เราจะต้องหมั่นสร้างบุญกุศลให้มาก เพื่อมาทำให้จางบาปมีฤทธิ์น้อยลงหรือให้หมดฤทธิ์ลงไปให้ได้

งดเว้นจากบาปหมายความว่าอย่างไร ?

            งด    หมายถึง  สิ่งใดที่เคยทำแล้วหยุดเสีย เลิกเสีย

            เว้น   หมายถึง  สิ่งใดที่ไม่เคยทำ ก็ไม่ยอมทำเลย

            งดเว้นจากบาป จึงหมายความว่า การกระทำใดก็ตามทั้ง กาย วาจา ใจ ที่เป็นความชั่ว ความร้ายกาจ ทำให้ใจเศร้าหมอง ถ้าเราเคยทำอยู่ก็จะงดเสีย ที่ยังไม่เคยทำก็จะเว้นไม่ยอมทำโดยเด็ดขาด

สิ่งที่ทำแล้วเป็นบาป

            คือ อกุศลกรรมบถ ๑๐ ได้แก่

            ๑.        ฆ่าสัตว์            เช่น ฆ่าคน ยิงนกตกปลา รวมถึงทรมานสัตว์

            ๒.        ลักทรัพย์          เช่น ลักขโมย ปล้น ฉ้อโกง หลอกลวง คอร์รัปชั่น

            ๓.        ประพฤติผิดในกาม  เช่น เป็นชู้ ฉุดคร่า อนาจาร

            ๔.        พูดเท็จ             เช่น พูดโกหก พูดเสริมความ ทำหลักฐานเท็จ

            ๕.        พูดส่อเสียด     เช่น พุดยุยงให้เขาแตกกัน ใส่ร้ายป้ายสี

            ๖.        พูดคำหยาบ     เช่น ด่า ประชด แช่งชักหักกระดูก ว่ากระทบ

            ๗.        พูดเพ้อเจ้อ       เช่น พูดพล่าม พูดเหลวไหล พูดโอ้อวด

            ๘.        คิดโลภมาก     เช่น อยากได้ในทางทุจริต เพ่งเล็งทรัพย์คนอื่น

            ๙.        คิดพยาบาท     เช่น คิดอาฆาต คิดแก้แค้น คิดปองร้าย

            ๑๐.      มีความเห็นผิด   เช่น เห็นว่าบุญบาปไม่มี เห็นว่าพ่อแม่ไม่มีพระคุณ เห็นว่าตายแล้วสูญ  เห็นว่ากฎแห่งกรรมไม่มี

วิธีงดเว้นจากบาปให้สำเร็จ

            คนเราประกอบขึ้นด้วยกายและใจ โดยใจจะเป็นผู้คอยควบคุมกายให้ทำหรือไม่ให้ทำสิ่งต่างๆ ตามที่ใจต้องการ  พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า

      

      “ทุกอย่างมีใจเป็นใหญ่ สำเร็จได้ด้วยใจ ถ้าใครมีใจชั่วเสียแล้ว การพูดการกระทำของเขาก็ย่อมชั่วตามไปด้วย เพราะการพูดชั่วทำชั่วนั้น ความทุกข์ก็ย่อมตามสนองเขา เหมือนวงล้อเกวียนที่หมุนเวียนตามบดขยี้รอยเท้าโคที่ลากมันไป

            แต่ถ้ามีใจบริสุทธิ์ การพูด การกระทำ ก็ย่อมบริสุทธิ์ตามไปด้วย เพราะการพูด การกระทำ ที่บริสุทธิ์ดีงามนั้น ความสุขก็ย่อมตามสนองเขาเหมือนเงาที่ไม่พรากไปจากร่างฉะนั้น”

ขุ. ธ. ๒๕/๑๑/๑๕

 

            ดังนั้นผู้ที่ปรารถนาหาความสุขความก้าวหน้าทั้งหลาย จึงต้องฝึกใจตนเองให้งดเว้นบาป  ซึ่งทำได้โดย ต้องฝึกให้ใจมีหิริโอตตัปปะเสียก่อน

หิริโอตตัปปะ คือ อะไร ?

            หิริ คือความละอายบาป ถึงไม่มีใครรู้แต่นึกแล้วกินแหนงแคลงใจ ไม่สบายใจ เป็นความรู้สึกรังเกียจ ไม่อยากทำบาป เห็นบาปเป็นของสกปรก จะทำให้ใจของเราเศร้าหมอง จึงไม่ยอมทำบาป

            โอตตัปปะ คือความเกรงกลัวผลของปาก เป็นความรู้สึกกลัว กลัวว่าเมื่อทำไปแล้ว  บาปจะส่งผลเป็นความทุกข์ทรมานแก่เรา  จึงไม่ยอมทำบาป

            สมมุติว่าเราเห็นเหล็กชิ้นหนึ่งเปื้อนอุจจาระอยู่เราไม่อยากจับต้องรังเกียจว่าอุจจาระจะมาเปื้อนมือเรา  ความรู้สึกนี้เปรียบได้กับ หิริ  คือความละอายต่อบาป

            สมมุติว่าเราเห็นเหล็กท่อนหนึ่งเผาไฟอยู่จนร้อนแดง เรามีความรู้สึกกลัวไม่กล้าจับต้อง เพราะเกรงว่าความร้อนจะลวกเผาไหม้มือเรา ความรู้สึกนี้เปรียบได้กับโอตตัปปะ  คือความเกรงกลัวต่อผลของบาป

       

     “สัตบุรุษ ผู้สงบระงับ ประกอบด้วยหิริโอตตัปปะ ตั้งมั่นอยู่ในธรรมขาว ท่านเรียกว่า ผู้มีธรรมของเทวดาในโลก”

ขุ. ชา. เอก. ๒๗/๖/๓

เหตุที่ทำให้เกิดหิริ

            ๑. คำนึงถึงความเป็นคน หรือชาติตระกูล “เรานี่มีบุญอุตส่าห์ได้เกิดเป็นคนแล้ว ทำไมจึงจะมาฆ่าสัตว์ ทำไมต้องมาขโมยเขากิน นั่นมันเรื่องของสัตว์เดียรัจฉาน ทำไมต้องมาแย่งผัวแย่งเมียเขา ไม่ใช่หมูหมากาไก่ในฤดูผสมพันธุ์นี่ เรานี่มันชาติคน เป็นมนุษย์สูงกว่าสัตว์ทั้งหลายอยู่แล้ว”พอคำนึงถึงชาติตระกูล หิริก็เกิดขึ้น

            ๒. คำนึงถึงอายุ “โธ่เอ๋ย เราก็แก่ป่านนี้แล้ว จะมานั่งเกี้ยวเด็กสาวๆ คราวลูกคราวหลานอยู่ได้อย่างไร โธ่เอ๋ย เราก็แก่ป่านนี้แล้วจะมาขโมยของเด็กรุ่นลูกรุ่นหลานได้อย่างไร” พอคำนึงถึงวัย หิริก็เกิดขึ้น

            ๓. คำนึงถึงความดีที่เคยทำ “เราก็เคยมีความองอาจกล้าหาญ ทำความดีมาก็มากแล้ว ทำไมจะต้องมาทำความชั่วเสียตอนนี้ล่ะ ไม่เอาละ ไม่ยอมทำความชั่วละ”  พอคำนึงถึงความดีเก่าก่อน  หิริก็เกิดขึ้น

            ๔. คำนึงถึงความเป็นพหูสูต”ดูซิ เราก็มีความรู้ขนาดนี้แล้ว รู้ว่าอะไรดี อะไรชั่ว รู้ว่าอะไรควรทำ อะไรไม่ควรทำ รู้สารพัดจะรู้แล้วจะมาทำความชั่วได้อย่างไร”พอคำนึงถึงความเป็นพหูสูต หิริก็เกิดขึ้น

            ๕. คำนึงถึงพระศาสดา  “เราเองก็ลูกพระพุทธเจ้า  พระองค์สู้ทนเหนื่อย ยาก  ตรัสรู้ธรรมแล้วทรงสั่งสอนอบรมพวกเราต่อๆ กันมา  เราจะละเลยคำสอน ของพระองค์ไปทำชั่วได้อย่างไร”  พอคำนึงถึงพระศาสดา หิริก็เกิดขึ้น

            ๖. คำนึงถึงครูอาจารย์ สถานศึกษา “ฮึ เราก็ศิษย์มีครูเหมือนกัน ครู อาจารย์สู้อบรมสั่งสอนมา ชื่อเสียงสถาบันของเราก็โด่งดังเป็นที่ยกย่องสรรเสริญ แล้วเราจะมาทำชั่วได้อย่างไร”พอคำนึงถึงครูอาจารย์ สำนักเรียน หิริก็เกิดขึ้น

เหตุที่ทำให้เกิดโอตตัปปะ

            ๑. กลัวคนอื่นติ “นี่ถ้าเราขืนไปขโมยของเขาเข้า คนอื่นรู้คงเอาไปพูดกันทั่ว ชื่อเสียงที่เราอุตส่าห์สร้างมาอย่างดี คงพังพินาศหมดคราวนี้เอง” เมื่อกลัวว่าคนอื่นเขาจะติเอา โอตตัปปะก็เกิดขึ้น จึงไม่ยอมทำบาป

            ๒. กลัวการลงโทษ “อย่าดีกว่า ขืนไปฆ่าเขาเข้า บาปกรรมตามทัน ตำรวจจับได้ มีหวังติดคุกตลอดชีวิตแน่”เมื่อกลัวว่าบาปจะส่งผลให้ถูกลงโทษ โอตตัปปะก็เกิดขึ้น จึงไม่ยอมทำบาป

            ๓. กลัวการเกิดในทุคติ “ไม่เอาละ ขืนไปขโมยของเขาอีกหน่อยต้องไปเกิดเป็นสัตว์นรก สัตว์เดียรัจฉาน เป็นเปรต เป็นอสุรกาย ไม่ทำดีกว่า” เมื่อกลัวว่าจะต้องไปเกิดในทุคติ  โอตตัปปะก็เกิดขึ้นจึงไม่ยอมทำบาป

             ดังนั้นเราชาวพุทธทั้งหลาย นอกจากจะต้องพยายามงดเว้นบาปเพื่อป้องกันใจของเราไม่ให้ไหลเลื่อนไปทางต่ำแล้ว จะต้องหมั่นยกใจของเราให้สูงอยู่เสมอ ด้วยการขวนขวายสร้างสมบุญกุศลอยู่เป็นนิจ คือการทำทาน รักษาศีล เจริญภาวนา เป็นต้น

อานิสงส์การงดเว้นบาป

            ๑.        ทำให้เป็นคนไม่มีเวร ไม่มีภัย   

            ๒.        ทำให้เกิดมหากุศลตามมา

            ๓.        ทำให้โรคภัยไข้เจ็บไม่เบียดเบียน

            ๔.        ทำให้เป็นผู้ไม่ประมาท

            ๕.        ทำให้เกิดศรัทธาในพระพุทธศาสนามากยิ่งขึ้น

            ๖.        ทำให้จิตใจผ่องใส  พร้อมที่จะรองรับคุณธรรมขั้นสูงต่อไป

                                                                        ฯลฯ

 

            “บัณฑิตเห็นภัยในนรกทั้งหลายแล้ว พึงงดเว้นบาปทั้งหลายเสีย พึงสมาทานอริยธรรมแล้วงดเว้น  เมื่อความบากบั่นมีอยู่  ชนไม่พึงเบียดเบียนสัตว์ และรู้อยู่ไม่พึงพูดมุสา ไม่พึงหยิบฉวยของที่เขาไม่ให้ พึงเป็นผู้ยินดีด้วยภรรยาของตน พึงงดภรรยาของคนอื่น และไม่พึงดื่มเมรัยสุราอันยังจิตให้หลง”

องฺ ปญฺจก. ๒๒/๑๗๙/๒๓๘

 

หนังสือมงคลชีวิต 38 ประการ ฉบับทางก้าวหน้า

 โดย พระมหาสมชาย ฐานวุฑโฒ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย