มงคล ที่ ๒๓ มีความถ่อมตน
มหาสมุทรซึ่งเป็นที่ไหลมารวมกันของน้ำจากทุกสารทิศ
จะต้องมีระดับพื้นที่
ต่ำกว่าพื้นที่ตรงต้นน้ำทั้งหลายฉันใด
ผู้ที่ต้องการจะรับการถ่ายทอดคุณความดีจากบุคคลทั้งหลาย
ก็จะต้องมีความอ่อนน้อมถ่อมตนก่อนฉันนั้น
*****************************
ความถ่อมตน คือ อะไร ?
ความถ่อมตน มาจากภาษาบาลีว่า นิวาโต
วาโต แปลว่า ลม พองลม
นิ แปลว่า ไม่มี ออก
นิวาโต แปลว่า ไม่พองลม เอาลมออกแล้ว คือเอามานะทิฏฐิออก มีความสงบเสงี่ยม เจียมตน ไม่เบ่ง ไม่ทะนงตน ไม่มีความมานะถือตัว ไม่อวดดื้อถือดี ไม่ยโสโอหัง ไม่ดูถูกเหยียดหยามใคร ไม่กระด้าง ไม่เย่อหยิ่งจองหอง
ความแตกต่างระหว่าง
ความเคารพกับความถ่อมตน
ความเคารพ เป็นการปรารภผู้อื่น คือตระหนักในคุณความดีของผู้อื่น พบใครก็คอยจ้องหาข้อดีของเขา ไม่จับผิด สามารถประเมินคุณค่าของ ผู้อื่นได้ตามความเป็นจริง แล้วแสดงอาการเคารพนับถือด้วยกาย วาจา ใจ
ความถ่อมตน เป็นการปรารภตนเอง คือคอยตามพิจารณาข้อบกพร่องขอตนเอง จับผิดตัวเอง สามารถประเมินค่าของตนเองได้ถูกต้องตามความเป็นจริง ไม่อวดดื้อถือดี สามารถน้อมตัวลงเพื่อถ่ายทอดคุณความดีของผู้อื่นเข้าสู่ตนเองได้อย่างเต็มที่
คนที่มีความเคารพอาจขาดความถ่อมตนก็ได้ เช่น บางคนเมื่อพบคนดีก็ตระหนักในความดีความสามารถของเขา คือมีความเคารพแต่ขณะเดียวกัน ถ้าจะให้อ่อนเข้าไปหาเขาทำไม่ได้ ชอบเอาตัวเข้าไปเทียบด้วย แล้วใจของตัวก็พองรับทันทีว่า “ถึงเอ็งจะแน่ แต่ข้าก็หนึ่งเหมือนกัน” ใจของเขาจะพองเหมือน อึ่งอ่างพองลม คอยแต่คิดว่า “ข้าวิเศษกว่า” ทุกที
สิ่งที่คนทั่วไปหลงถือเอาทำให้ถือตัว
๑. ชาติตระกูล เช่น คิดว่า “ตระกูลฉันนี้เป็นตระกูลใหญ่ เชื้อสาย ผู้ดีเก่า พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย กี่รุ่นกี่รุ่นมีชื่อเสียงโด่งดังมาตลอด คนอื่นจะมาเทียบฉันได้อย่างไร” เมื่อหลงถือว่าตนมีชาติตระกูลสูงกว่าผู้อื่น ความถือตัวก็เกิดขึ้น
๒. ทรัพย์สมบัติ เช่น คิดว่า “เฮอะ!ทรัพย์สินเงินทองของฉันมีมากมาย จะซื้อจะหาอะไรก็ได้อย่างใจ ไม่เห็นจะต้องไปง้อ ไปเกรงใจใคร” เมื่อหลงถือว่าตนมีทรัพย์สมบัติมากกว่าผู้อื่น ความถือตัวก็เกิดขึ้น
๓. รูปร่างหน้าตา เช่น คิดว่า “ฮึ!ฉันนี้สวยน้อยหน้าใครเสียเมื่อไหร่ดูซี ผิวก็ละเอียด จมูกก็โด่ง ตาก็กลม นางงามจักรวาลที่ว่าสวยๆ ลองมาเทียบกันดูซักทีเถอะน่า ไม่แน่หรอกว่าใครส่วยกว่ากัน” เมื่อหลงถือว่าตนมีรูปร่างหน้าตาดีกว่าผู้อื่น ความถือตัวก็เกิดขึ้น
๔. ความรู้ความสามารถ เช่น คิดว่า “ฉันนี้ความรู้ระดับปริญญาโท ปริญญาเอก ปริญญาที่ไหนที่ว่ายากๆ กวาดมาหมดแล้ว ฝีมือก็แน่กว่าใคร ใครๆ ก็สู้ฉันไม่ได้” เมื่อหลงถือว่าตนมีความรู้ความสามารถสูงกว่าผู้อื่น ความถือตัว ก็เกิดขึ้น
๕. ยศตำแหน่ง เช่น คิดว่า “ฮึ!ฉันนี้มันชั้นผู้อำนวยการกอง อธิบดี ปลัดกระทรวง ซี ๘ ซี ๙ ซี ๑๐ ซี ๑๑ แล้ว ใครจะมาแน่เท่าฉัน” เมื่อหลงถือว่าตนมียศตำแหน่งสูงกว่าผู้อื่น ความถือตัวก็เกิดขึ้น
๖. บริวาร เช่น คิดว่า “เฮอะ!สมัครพรรคพวก ลูกน้องฉันมีเยอะแยะใครจะกล้ามาหือ ใครจะกล้ามากำเริบเสิบสาน” เมื่อหลงถือว่าตนมีบริวารมากกว่าผู้อื่น ความถือตัวก็เกิดขึ้น
คนทั่วไปมักหลงยึดเอาสิ่งต่างๆ ๖ ประการนี้ เป็นข้อถือดีของตัว ไม่เคยคิดว่าสิ่งต่างๆ ที่ว่านั้น มันจะเป็นของเราตลอดไปหรือไม่ จีรังยั่งยืนหรือเปล่า ที่ว่าหล่อๆ สวยๆ พออายุสักหกสิบเจ็ดสิบจะมีใครอยากมอง เศรษฐี มหาเศรษฐี ทำการค้าผิดพลาดเข้า ล่มจมกลายเป็นยาจกภายในวันเดียวก็มีตัวอย่างมามากแล้ว และถึงจะเป็นเศรษฐีไปจนตายก็ใช่ว่าจะขนเงินขนทองไปปรโลกด้วยได้เมื่อไหร่ ถ้าไม่รู้จักสร้างคุณงามความดี ถึงมีเงินทองมากเท่าไหร่ก็ไม่พ้นทุกข์ไปได้ ยิ่งรวยมากก็ยิ่งทุกข์มาก ทั้งหา ห่วง หวง ยศตำแหน่ง บริวารนั้นก็มิใช่ว่าจะคงอยู่กับเราอย่างนั้นตลอดไป ทุกอย่างไม่มีอะไรแน่นอน ไม่ใช่เป็นของเราจริงๆ เป็นเพียงสิ่งสมมุติกันขึ้นเพื่อให้คนในสังคมทำงานตามหน้าที่ของตนเท่านั้น สิ่งที่จะคงอยู่กับตัวเราอย่างแน่นอน และช่วยให้เราพ้นทุกข์ได้จริงๆ คือความดีในตัวของเราต่างหาก
และการที่เราถือตัวเย่อหยิ่งทะนงตนนั้น มันทำให้อะไรในตัวเราดีขึ้นบ้าง จะทำให้คนอื่นนับถือว่าตัวเรายิ่งใหญ่ก็หามิได้ รังแต่จะทำให้เขาเกลียดชังเหม็นหน้า เหมือนคนอยากให้คนอื่นรู้ว่าตัวอ้วนท้วนสมบูรณ์ จึงอมลมเข้าเต็มปากทำให้แก้มตุ่ย ใครเห็นเข้าแทนที่จะชม เขาก็มีแต่จะหัวเราะเยาะ และขืนอมลมอยู่อย่างนั้น ข้าวก็กินไม่ได้น้ำก็กินไม่ได้ ตัวก็มีแต่จะผอมซูบซีดลงทุกที
แท้จริง ผู้ที่จะเป็นผู้ยิ่งใหญ่ ได้รับการยกย่องนับถือจากคนอื่นทั้งกายและใจนั้น จะต้องเป็นผู้มีความอ่อนน้อมถ่อมตนอย่างเต็มที่เท่านั้น ผู้ที่ฉลาด จึงไม่ควรหลงยึดเอาสิ่งเหล่านี้มาทำให้ตนเกิดความถือตัว
โทษของการอวดดื้อถือดี
๑. ทำให้เสียตน เพราะเป็นคนรับความดีจากคนอื่นไม่ได้ กลัวเสีย เกียรติ ประเมินค่าตนสูงกว่าความเป็นจริง คิดแต่ว่าเราดีอยู่แล้ว ใครๆ ก็สู้เราไม่ได้ โบราณท่านจึงมีคำสอนเตือนใจไว้ว่า”ลูกท่านหลานเธอ ลูกเจ้าบ้านหลานเจ้าวัด มักจะเอาดีไม่ค่อยได้” เพราะมักจะติดนิสัยอวดดีถือตัว ยโสโอหัง จึงไม่มีใครอยากแนะนำสั่งสอนให้ ทำผิดก็ไม่มีใครอยากเตือน สุดท้ายก็คบอยู่แต่กับพวกประจบสอพลอ ทำผิดถลำลึกไปทุกทีจนสุดทางแก้
๒. ทำให้เสียมิตร เพราะเป็นคนเจ้ายศเจ้าอย่าง ที่ไม่ควรถือก็ถือ ไม่ควรโกรธก็โกรธ จึงไม่มีใครอยากคบด้วย คนพวกนี้ถึงแม้ในเบื้องต้นอยากจะทำความดี แต่ทำไปได้ไม่กี่น้ำก็จอดเพราะไม่มีคนสนับสนุน เป็นเหมือนเจดีย์ฐานแคบ ไม่สามารถสร้างให้สูงขึ้นไปได้
๓. ทำให้เสียหมู่คณะ เพราะเป็นคนอวดเบ่ง จะเอาแต่อภิสิทธิ์ ทำให้เสียระเบียบวินัย หมู่คณะแตกแยก
หมู่คณะใดที่สมาชิกมีความอ่อนน้อมถ่อมตน แม้บางครั้งจะมีการทะเลาะเบาะแว้งกันบ้าง แต่ไม่นานก็สามารถสมานสามัคคี ป้องกันอันตรายทั้งหลายได้โดยง่าย เหมือนดินเหนียวในท้องนายามหน้าแล้งก็แตกระแหงเป็นร่องลึก ดูเหมือนไม่มีทางที่จะประสานรวมกันได้อีกแล้ว แต่พอฝนตกลงมาซู่เดียวก็สามารถประสานคืนเป็นผืนเดียวกันได้อย่างน่าอัศจรรย์
ส่วนหมู่คณะใดที่สมาชิกมีความถือตัวจัด จึงไม่มีทางที่หมู่คณะนั้นจะเกิดความสมานสามัคคีกันได้ เหมือนดินทรายที่แม้ฝนจะตกจนน้ำท่วมฟ้าก็ไม่มีทางประสานรวมกันได้สนิท เช่นประเทศอินเดียในอดีตซึ่งพลเมืองมีความถือตัวจัด แบ่งชั้นวรรณะกันอย่างหนัก แม้เพียงคนวรรณะสูงไปเห็นคนวรรณะต่ำ เห็นคนจัณฑาลเข้าก็ต้องรีบไปเอาน้ำล้างตา เพราะกลัวเสนียดจัญไรจะติด เพราะถือตัวกันอย่างนี้ พอถึงคราวมีข้าศึกรุกราน เลยไม่มีใครช่วยใครกำจัดศัตรู ปล่อยให้ศัตรูเข้ายึดครองประเทศโดยง่าย พวกคนวรรณะต่ำก็คิดว่าดีแล้ว คนวรรณะสูงๆ จะได้รู้สึกเสียบ้าง คนวรรณะสูงด้วยกันเองก็ยังถือตัวทะเลาะรบกันเอง เพราะถือตัวกันอย่างนี้ แม้มีพลเมืองมากหลายร้อยล้านคนก็ยังตกเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ ซึ่งส่งทหารมาเพียงแค่หยิบมือเดียว
“นระใดกระด้างโดยชาติ
กระด้างโดยทรัพย์ และกระด้างโดยโคตร
ย่อมดูหมิ่นแม้ญาติของตน
กรรม ๔ อย่างของนระนั้น เป็นทางแห่งความเสื่อม”
(ปราภวสูตร) ขุ. สุ. ๒๕/๓๐๔/๓๔๗
วิธีแก้ความอวดดื้อถือดี
๑.ต้องคบกัลยาณมิตร คือคบคนดี จะได้คอยแนะนำเตือนสติเราให้ประเมินค่าของตนเองถูกต้องตามความเป็นจริง คอยแนะนำปลูกสร้างนิสัยดีๆ ให้กับเรา ไม่คบคนประจบสอพลอซึ่งจะพาเราไปในทางเสีย นอกจากนี้จะต้องแสดงความเคารพบูชาบุคคลที่ควรบูชาเสมอๆ เราจะได้ตระหนักเสมอว่า ผู้ที่มีคุณธรรมสูงกว่าเรายังมีอยู่
๒.ต้องมีโยนิโสมนสิการ คือรู้จักคิดไตร่ตรองเอง เช่น พิจารณาว่า คนเราไม่ได้อยู่ค้ำฟ้า ถึงจะเก่งอย่างไรในที่สุดก็ต้องตายเหมือนกัน ตัวเราเองก็ไม่ได้วิเศษกว่าคนอื่นเลย ขณะเดียวกัน สิ่งใดที่เป็นข้อถือตัวของเรา เช่น ชาติตระกูล ฐานะ รูปร่างหน้าตา ตำแหน่งหน้าที่การงาน บริวาร ให้หมั่นนำสิ่งนั้นมาพิจารณาเนืองๆ ว่า สิ่งเหล่านั้นก็ไม่เที่ยงแท้ ไม่จีรังยั่งยืน ไม่ได้อยู่กับเราตลอดไปเช่นเดียวกัน
ลักษณะของผู้มีความถ่อมตน
ผู้มีความถ่อมตน จะเป็นผู้ที่รู้คุณค่าของตนตามความเป็นจริง เจียม เนื้อเจียมตัว ทำให้มีลักษณะอาการแสดงออกที่ดีเด่นกว่าคนทั้งหลาย ๓ ประการ ดังนี้
๑.มีกิริยาอ่อนน้อม คือไม่ลดตัวลงจนเกินควร และไม่ถือตัวจนเกินงาม มีกิริยาอันเป็นที่รัก อ่อนโยนละมุนละไมต่อคนทั่วไป ทั้งผู้ใหญ่ผู้น้อยและผู้เสมอกัน รู้ที่ต่ำที่สูง ไม่ตีตนเสมอท่าน มีคุณสมบัติผู้ดี สำหรับแสดงแก่คนทั้งหลายโดยเสมอหน้ากัน ไม่เลือกว่าเขาจะมีฐานะสูงกว่าหรือต่ำกว่าตน สงบเสงี่ยม แต่ก็มีความองอาจ ผึ่งผายในตัว
๒.มีวาจาอ่อนหวาน คือมีคำพูดที่ไพเราะน่าฟัง ออกมาจากใจที่ใสสะอาดนุ่มนวล ไม่แข็งกระด้าง ไม่พูดโอ้อวดยกตัว และไม่พูดกล่าวโทษลบหลู่ทับถมคนอื่น เมื่อตนทำพลาดพลั้งสิ่งใดต่อใคร ย่อมออกวาจาขอโทษเสมอ เมื่อผู้ใดแสดงคุณต่อตนอย่างไรก็ออกวาจาขอบคุณเขาเสมอ ไม่พูดเยาะเย้ยถากถางผู้ทำผิดพลาด ไม่ใช้วาจาข่มขู่ผู้อื่น เห็นใครทำดีก็ชมเชยสรรเสริญจากใจจริง
๓.มีใจอ่อนโยน คือมีใจนอบน้อม ละมุนละม่อม ถ่อมตัว มีใจอ่อนละไมแต่มิใช่อ่อนแอ มีใจเข้มแข็งแต่มิใช่แข็งกระด้าง ไม่นิยมอวดกำลังความสามารถ แต่พยายามฝึกตนเองให้มีความสามารถ ถือคติว่า “จงมีแรงเหมือนยักษ์ แต่อย่าใช้แรงอย่างยักษ์” ไม่ถือความคิดของตัวเป็นใหญ่ มีใจเปิดกว้าง ยอมรับความคิดเห็นของคนอื่น รู้จักลดหย่อนผ่อนผันแก่กัน ถือคติว่า “ไม้ลำเดียวยังต่างปล้อง พี่น้องยังต่างใจ สิบคนสิบความรู้ สิบคนสิบความคิด แม้สิบคนก็สิบความเห็น” เมื่อใครเขาไม่เห็นพ้องกับตนก็ไม่ด่วนโกรธ แล้วค่อยๆ ปรับความคิดเห็นเข้าหากัน โดยยึดเอาคำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นแกนกลาง
ตัวอย่างผู้มีความอ่อนน้อมถ่อมตน
ครั้งหนึ่ง พระสารีบุตรถูกพระภิกษุรูปหนึ่งใส่ความว่า ทะนงตนว่าเป็นอัครสาวกแล้วแกล้งมาเดินกระทบตน พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงตรัสถามพระ-สารีบุตรในที่ประชุมสงฆ์ว่าเป็นจริงหรือไม่
พระสารีบุตรทูลตอบว่า ภิกษุที่มิได้มีสติประคองจิตไว้ในกาย ก็จะพึงกระทบเพื่อนสพรหมจารีแล้วจากไปโดยไม่ขอโทษเป็นแน่ แต่ตัวท่านเองนั้น ทำใจเสมือนแผ่นดิน น้ำ ไฟ ลม และผ้าขี้ริ้วที่จะต้องพบกับของสะอาดบ้าง ไม่สะดวกบ้างอยู่เสมอ และเสมือนเด็กจัณฑาลที่พลัดเข้าไปในหมู่บ้าน หรือเหมือนโคที่เขาหักเสียแล้ว ย่อมไม่มีอำนาจที่จะแกล้วกล้าอาจหาญได้แต่อย่างใด ท่านมีแต่ความเบื่อระอาร่างกายอันเปื่อยเน่าน่ารังเกียจนี้ ที่ยังต้องดูแลประคับประคองอยู่ ประดุจต้องประคองถาดมันข้นที่มีช่องทะลุถึง ๙ ช่อง และมีน้ำมันรั่วไหลออกอยู่เสมอ ย่อมไม่มีใจที่จะไปกระด้างถือตัวกับใครได้
ลองพิจารณาดูเถิดว่า ขนาดพระสารีบุตร ซึ่งก็บวชก็ร่ำเรียนเจนจบในวิชา ๑๘ ประการมาแล้ว เปรียบสมัยนี้ก็เท่ากับปริญญา ๑๘ สาขา บวชแล้วก็ได้เป็นพระอรหันต์ เป็นอัครสาวกเบื้องขวาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ยังมีความอ่อนน้อมถ่อมตนถึงเพียงนี้ มีความเจียมตัวตลอดเวลา เปรียบตัวเองเหมือนผ้าขี้ริ้วเก่าๆ เหมือนโคที่เขาขาดแล้วเหมือนเด็กจัณฑาล ซึ่งเป็นคนชั้นต่ำสุดในอินเดียสมัยนั้น ไม่มีความถือตัวทะนงตนแม้แต่น้อย แล้วพวกเราซึ่งยังเป็นปุถุชนธรรมดาๆ อยู่นี่ล่ะ มีดีอะไรมากนักหนาจึงจะมาถือตัวกัน
เมื่อพระสารีบุตรกล่าวอยู่เช่นนี้ พระภิกษุรูปนั้นก็เกิดความเร่าร้อนในสรีระเหมือนมีไฟมาเผาตัว อดรนทนอยู่ไม่ได้ ต้องลุกขึ้นขอโทษพระสารีบุตร และยอมรับสารภาพต่อหมู่สงฆ์ว่ากล่าวตู่ใส่ความพระสารีบุตร
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสสรรเสริญพระสารีบุตรว่า “มีใจมั่นคงเหมือนแผ่นดิน เหมือนเสาเขื่อน เป็นผู้คงที่และมีวัตรดี เป็นผู้ใสสะอาด เหมือนน้ำที่ไม่มีฝุ่นหรือโคลนตม สังสารวัฏย่อมไม่มีแก่บุคคลเช่นนี้”
อานิสงส์การมีความถ่อมตน
๑.ทำให้อยู่เป็นสุข ไม่มีศัตรู
๒.ทำให้น่ารัก น่านับถือ น่าเคารพกราบไหว้
๓.ทำให้เกิดความสามัคคีในหมู่คณะ
๔.ทำให้ได้กัลยาณมิตร
๕.ทำให้สามารถถ่ายทอดคุณความดีจากผู้อื่นได้
๖.ทำให้ได้ที่พึ่งทั้งภพนี้ภพหน้า
๗.ทำให้ไม่ประมาท ตั้งอยู่ในธรรม
๘.ทำให้บรรลุมรรคผลนิพพานโดยง่าย
ฯลฯ
“บุคคลผู้เป็นบัณฑิตถึงพร้อมด้วยศีล ละเอียด มีปฏิภาณไหวพริบ ประพฤติถ่อมตน และไม่กระด้างเช่นนั้น ย่อมได้ยศ”
หนังสือมงคลชีวิต 38 ประการ ฉบับทางก้าวหน้า
โดย พระมหาสมชาย ฐานวุฑโฒ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย