วันจันทร์ที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2566

มงคล ที่ 25 มีความกตัญญู

                        มงคล ที่ ๒๕  มีความกตัญญู

คนตาบอด ย่อมมองไม่เห็นโลก 

แม้ดวงอาทิตย์จะส่องสว่างอยู่ฉันใด

คนใจบอด ย่อมมองไม่เห็นพระคุณ

แม้จะได้รับความเมตตากรุณาจากผู้มีอุปการคุณฉันนั้น

******************

ความกตัญญู คือ อะไร ?

            ความกตัญญู คือความรู้คุณ หมายถึงความเป็นผู้มีใจกระจ่าง มีสติปัญญาบริบูรณ์  รู้อุปการคุณที่ผู้อื่นกระทำแล้วแก่ตน  ผู้ใดก็ตามที่ทำคุณแก่ตนแล้ว ไม่ว่าจะมากก็ตามน้อยก็ตาม เช่น เลี้ยงดู สั่งสอน ให้ที่พัก ให้งานทำ ฯลฯ  ย่อมระลึกถึงด้วยความซาบซึ้งอยู่เสมอ ไม่ลืมอุปการคุณนั้นเลย

            อีกนัยหนึ่ง ความกตัญญู หมายถึงความรู้บุญหรือรู้อุปการะของบุญที่ตนทำไว้แล้ว รู้ว่าที่ตนเองพ้นจากภัยอันตรายทั้งหลาย ได้ดีมีสุขอยู่ในปัจจุบัน ก็เพราะบุญทั้งหลายที่เคยทำไว้ในอดีตส่งผลให้ จึงไม่ลืมอุปการะของบุญนั้นเลย และสร้างสมบุญใหม่ให้ยิ่งๆ ขึ้นไป

            รวมความแล้ว  กตัญญูจึงหมายถึงการรู้จักบุญคุณ  อะไรก็ตามที่เป็นบุญหรือมีคุณต่อตนแล้ว ก็ตามระลึกนึกถึงด้วยความซาบซึ้งไม่ลืมเลย คนมีกตัญญูถึงแม้จะนัยน์ตาบอดมืดทั้งสองข้าง แต่ใจของเขาใสกระจ่างยิ่งกว่าดวงจันทร์ดวงอาทิตย์รวมกันเสียอีก

สิ่งที่ควรกตัญญู

            สิ่งที่ควรแก่ความกตัญญู คือทุกสิ่งที่มีบุญแก่เรา  ซึ่งอาจแบ่งได้เป็น  ๕  ประการ ได้แก่

            ๑. กตัญญูต่อบุคคล คือใครก็ตามที่เคยมีพระคุณต่อเรา ไม่ว่าจะมากน้อยเพียงไร จะต้องกตัญญูรู้คุณท่าน ติดตามระลึกถึงเสมอด้วยความซาบซึ้ง พยายามหาโอกาสตอบแทนคุณท่านให้ได้  

            ให้ปฏิบัติตัวให้เป็นลูกที่ดีของพ่อแม่ เป็นศิษย์ที่ดีของครูอาจารย์ เป็นพลเมืองที่ดีของประเทศชาติและเป็นพุทธมามกะสมชื่อ

            ๒. กตัญญูต่อสัตว์ คือสัตว์ที่มีคุณต่อเรา เช่น ช้าง ม้า วัว ควาย ที่ใช้งาน จะต้องใช้ด้วยความกรุณาปรานี ไม่เฆี่ยนตีมันจนเหลือเกิน อย่าใช้งานหนักจนเป็นการทรมาน ขณะเดียวกันต้องเลี้ยงดูให้อาหารอย่าให้อดอยาก ให้ได้กินได้นอนได้พักผ่อนตามเวลา  ตัวอย่างในเรื่องกตัญญูต่อสัตว์นี้มีอยู่ว่า

            ในสมัยก่อนพุทธกาล วันหนึ่งพระเจ้ากรุงราชคฤห์เสด็จประพาสอุทยาน และได้บรรทมหลับในอุทยานนั้น ขณะนั้นมีงูเห่าตัวหนึ่งเลื้อยเข้ามาและกำลังจะฉกกัดพระองค์ เผอิญมีกระแตตัวหนึ่งเห็นเข้าแล้วร้องขึ้น พระองค์จึงสะดุ้งตื่นและไล่งูให้พ้นไป ทรงระลึกถึงคุณของกระแตว่าเป็นผู้ช่วยชีวิตพระองค์ไว้ จึงรับสั่งให้พระราชทานเหยื่อแก่กระแตในอุทยานนั้นทุกวัน และห้ามไม่ให้ใครทำอันตรายแก่กระแตในอุทยานนั้น คนทั้งหลายจึงเรียกอุทยานนั้นว่า เวฬุวันกลันทกนิวาปสถาน แปลว่า ป่าไผ่อันเป็นที่พระราชทานเหยื่อแก่กระแต ซึ่งต่อมาก็คือ เวฬุวันมหาวิหาร วัดแห่งแรกในพระพุทธศาสนานั้นเอง

            ๓.กตัญญูต่อสิ่งของ คือของสิ่งใดก็ตามที่มีคุณต่อเรา เช่นหนังสือธรรมะ หนังสือเรียน สถานศึกษา วัด ต้นไม้ ป่าไม้ วัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในการหาเลี้ยงชีพ ฯลฯ  จะต้องปฏิบัติต่อสิ่งเหล่านี้ให้ดี ไม่ลบหลู่ดูแคลน ไม่ทำลาย

            ๔.กตัญญูต่อบุญ คือรู้ว่าคนเราเกิดมามีอายุยืนยาว ร่างกายแข็งแรง ผิวพรรณดี สติปัญญาเฉลียวฉลาด มีความสุขความเจริญ มีความก้าวหน้า มีทรัพย์สมบัติมาก ก็เนื่องมาจากผลของบุญ จะไปสวรรค์กระทั่งไปนิพพานได้  ก็ด้วยบุญ กล่าวได้ว่า ทุกอย่างสำเร็จได้ด้วยบุญ ทั้งบุญเก่าที่ได้สั่งสมมาดีแล้ว และบุญใหม่ที่เพียรสร้างขึ้นประกอบกัน จึงมีความรู้คุณของบุญ มีความอ่อนน้อมในตัว ไม่ดูถูกบุญ ตามระลึกถึงบุญเก่าให้จิตใจชุ่มชื่น และไม่ประมาทในการสร้างบุญใหม่ให้ยิ่งๆ ขึ้นไป

            ๕.กตัญญูต่อตนเอง คือรู้ว่าร่างกายของเรานี้เป็นอุปกรณ์สำคัญที่เราจะใช้อาศัยในการทำความดี ใช้ในการสร้างบุญกุศลนานาประการ 


ความกตัญญูจำเป็นอย่างไรในการสร้างความดี ?

            การที่คนเราจะมีความคิดใฝ่ดี ตั้งใจทำความดีสร้างสมคุณธรรมให้เกิดขึ้นในตัว เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ยาก แต่ที่ยากยิ่งกว่านั้นก็คือ ทำอย่างไรจึงจะ  รักษาความตั้งใจที่ดีนั้นไว้ โดยไม่ท้อถอยไม่เลิกกลางคัน เพราะในการทำความดีย่อมมีอุปสรรค มีปัญหาขัดขวางมากมาย ไหนจะปัญหาภายนอกจากคนรอบข้าง จากสิ่งแวดล้อม ไหนจะปัญหาภายในจากกิเลสรุมล้อมประดังกันเข้ามา เราจะเอาตัวรอด ยืนหยัดสู้ปัญหาทั้งหลายที่เข้ามาผจญได้โดยไม่ท้อถอย ก็ต้องมีสิ่งที่ยึดเหนี่ยวใจไว้  นั่นคือความกตัญญู

            ไปโรงเรียน เรียนหนังสือ แม้จะยากแสนยาก ท้อถอยจะเลิกเสียก็หลายครั้ง เพื่อนฝูงบางคนชวนไปเที่ยวเตร่เฮฮา ดูน่าสนุกกว่ามาก แต่เมื่อนึกถึงคุณพ่อคุณแม่ คิดว่าท่านอุตส่าห์ทะนุถนอมเลี้ยงดูเรามาจนเติบใหญ่ ลำบากลำบนในการทำมาหากิน เพื่อส่งเสียให้เราได้เล่าเรียน ท่านฝากความหวังไว้กับตัวเรา อยากเห็นตัวเราได้ดีมีความเจริญก้าวหน้าในชีวิต พอคิดได้เท่านี้ ความกตัญญูก็จะเกิดขึ้นมีแรงสู้มีกำลังใจ แม้จะยากแสนยาก แม้จะเหนื่อยแสนเหนื่อย ก็กัดฟันสู้มุมานะ  ตั้งใจเรียนให้ดีให้ได้ ไม่ยอมประพฤติตัวไปในทางเสื่อมเสียแก่วงศ์ตระกูล ให้คุณพ่อคุณแม่ครูบาอาจารย์ได้อายโดยเด็ดขาด

            แม้ในหมู่ผู้ปฏิบัติธรรม  ผู้ตั้งใจจะทำหน้าที่เผยแผ่พระพุทธศาสนา   แน่นอนว่าในการทำงานนั้น จะต้องมีการกระทบกระทั่งกัน คนเราหลายคนก็หลายความเห็น  ต่างคนก็ต่างตั้งใจดีกันทั้งนั้น  แต่ความคิดความอ่านความสามารถอาจไม่เท่ากัน และบางครั้งก็เกิดทิฏฐิมานะ คิดไปว่า “ถึงแกจะหนึ่งแต่ฉันก็แน่เหมือนกัน” ทำให้ไม่ยอมกัน ที่เป็นเช่นนี้ เพราะต่างก็กำลังฝึกฝนตนเองอยู่ กิเลสในตัวก็ยังมี ยังไม่ได้หมดไป ดังนั้นถ้าไม่รู้จักควบคุมให้ดี จึงมีโอกาสขัดใจกันได้ หรือบางทีออกไปทำงานเผยแผ่ธรรมะ ก็พบกับคนที่ยังไม่เข้าใจ ไม่เห็นด้วย  พูดนินทาว่าร้าย  เยาะเย้ยถากถางเอาบ้าง เพราะเหตุนี้จึงมีนักปฏิบัติธรรม นักเผยแผ่ธรรมะ รวมทั้งผู้ที่ตั้งใจทำงานเพื่อสังคมส่วนรวมหลายๆ คน  เบื่อหน่ายท้อถอย  และเลิกราไปกลางคันอย่างน่าเสียดาย

            แต่ถ้าเป็นผู้ที่มีความกตัญญูเป็นพื้นใจแล้ว เมื่อความท้อถอย ความเบื่อหน่ายเอือมระอาเกิดขึ้น เพียงแต่นึกว่า ที่ตัวเราได้มีโอกาสเรียนรู้ธรรมะ รู้การสร้างบุญกุศล  รู้วิธีการดำเนินชีวิตอันประเสริฐ  รู้บุญรู้บาปอยู่ทุกวันนี้ก็เพราะพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ได้ทรงเสียสละอุทิศชีวิตทุ่มเทค้นคว้าจนตรัสรู้หลักอริยสัจจ์ คือความจริงอันประเสริฐทั้งหลายมาสอนเรา เมื่อคิดถึงชีวิต เลือดเนื้อ ความเพียรพยายามที่พระองค์ได้ทรงทุ่มเทลงไป ตลอดระยะเวลาที่ทรงบำเพ็ญบารมีอยู่นานถึง 20 อสงไขยกับแสนกัปป์ ว่ามากมายมหาศาลเพียงใด (เวลากัปป์หนึ่งอุปมาได้กับมีภูเขาหินรูปสี่เหลี่ยมลูกบาศก์  กว้าง ๑๖ กิโลเมตร  ยาว ๑๖ กิโลเมตร  สูง ๑๖ กิโลเมตร  ทุก ๑๐๐ ปี มีเทวดาเอาผ้าทิพย์บางเบา มาลูบครั้งหนึ่ง เมื่อใดภูเขาลูกนี้สึกหมด เรียบเสมอพื้นดิน ระยะเวลานั้นเท่ากับกัปป์หนึ่ง ; ๑ อสงไขย = ๑๐๑๔๐  คือจำนวนที่มีเลข ๑ และมีเลข ๐ ต่อท้าย ๑๔๐ ตัว) ตลอดจนคิดถึงพระคุณของครูบาอาจารย์ทั้งหลายที่ท่านอุตส่าห์ถ่ายทอดคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าต่อๆ กันมา  และอบรมสั่งสอนให้เราได้ทราบได้รู้ถึงคำสอนของพระองค์ โดยไม่เห็นแก่ความเหนื่อยยาก คิดเพียงเท่านี้ ความท้อถอยก็หาย ความเหนื่อยหน่ายก็คลาย แม้ความตายก็ไม่หวั่น เกิดกำลังใจที่จะทำความดีต่อไปไม่มีที่สิ้นสุด

            ความกตัญญูจึงเป็นคุณธรรมที่สำคัญยิ่ง ที่จะประคองใจของเราให้ดำรงมั่นอยู่ในคุณธรรมอันยิ่งๆ ขึ้นไป

วันจันทร์ที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2566

มงคลที่ 24 มีความสันโดษ

                       มงคล ที่ ๒๔  มีความสันโดษ

น้ำแม้เพียงน้อย ก็สามารถทำให้แก้วน้ำเต็มบริบูรณ์ได้

ตรงข้าม แม้มีน้ำมากมหาศาล

ก็ไม่สามารถทำให้มหาสมุทรเต็มบริบูรณ์

ในทำนองเดียวกัน ทรัพย์สินเงินทองแม้เพียงน้อย

ก็สามารถยังใจของผู้มีความสันโดษ

ให้เต็มเปี่ยมไปด้วยความสุขความพอใจ

ตรงข้าม แม้มีทรัพย์สินเงินทองมากมายมหาศาลเพียงใด 

ใจของผู้ที่ไม่มีความสันโดษ

ก็ยังเร่าร้อน กระวนกระวาย กระหายอยากได้อยู่นั่นเอง

*************************

สันโดษคืออะไร ?

            สันโดษ มาจากภาษาบาลีว่า สันโตสะ  สัน แปลว่า ตน  โตสะ แปลว่า ยินดี  สันโดษจึงแปลว่า ยินดี ชอบใจ พอใจ อิ่มใจ จุใจ สุขใจ กับของของตน ความหมายโดยย่อคือ ให้รู้จักพอ รู้จักประมาณ

            เรื่องสันโดษนี้ เป็นเรื่องหนึ่งที่มีผู้เข้าใจผิดกันมาก เข้าใจกันว่าสันโดษทำให้ยากจนบ้างละ เข้าใจว่าสันโดษทำให้เกียจคร้านบ้างละ เข้าใจว่าสันโดษขัดขวางความเจริญบ้างละ ขอให้เรามาพิจารณากันต่อไปว่าความเข้าใจของคนทั้งหลายนั้นเป็นจริงหรือไม่ ลักษณะสันโดษที่แท้จริงเป็นอย่างไร มีคุณหรือโทษ

วันพุธที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2566

มงคลที่ 23 มีความถ่อมตน

                     มงคล ที่ ๒๓  มีความถ่อมตน

มหาสมุทรซึ่งเป็นที่ไหลมารวมกันของน้ำจากทุกสารทิศ

จะต้องมีระดับพื้นที่

ต่ำกว่าพื้นที่ตรงต้นน้ำทั้งหลายฉันใด

ผู้ที่ต้องการจะรับการถ่ายทอดคุณความดีจากบุคคลทั้งหลาย

ก็จะต้องมีความอ่อนน้อมถ่อมตนก่อนฉันนั้น

*****************************

ความถ่อมตน คือ อะไร ?

            ความถ่อมตน  มาจากภาษาบาลีว่า  นิวาโต

            วาโต    แปลว่า ลม พองลม

            นิ         แปลว่า ไม่มี ออก

            นิวาโต แปลว่า ไม่พองลม เอาลมออกแล้ว คือเอามานะทิฏฐิออก มีความสงบเสงี่ยม เจียมตน ไม่เบ่ง ไม่ทะนงตน ไม่มีความมานะถือตัว ไม่อวดดื้อถือดี ไม่ยโสโอหัง ไม่ดูถูกเหยียดหยามใคร ไม่กระด้าง ไม่เย่อหยิ่งจองหอง

ความแตกต่างระหว่าง

ความเคารพกับความถ่อมตน

            ความเคารพ เป็นการปรารภผู้อื่น คือตระหนักในคุณความดีของผู้อื่น พบใครก็คอยจ้องหาข้อดีของเขา ไม่จับผิด สามารถประเมินคุณค่าของ   ผู้อื่นได้ตามความเป็นจริง แล้วแสดงอาการเคารพนับถือด้วยกาย วาจา ใจ

            ความถ่อมตน เป็นการปรารภตนเอง คือคอยตามพิจารณาข้อบกพร่องขอตนเอง จับผิดตัวเอง สามารถประเมินค่าของตนเองได้ถูกต้องตามความเป็นจริง ไม่อวดดื้อถือดี  สามารถน้อมตัวลงเพื่อถ่ายทอดคุณความดีของผู้อื่นเข้าสู่ตนเองได้อย่างเต็มที่

            คนที่มีความเคารพอาจขาดความถ่อมตนก็ได้ เช่น บางคนเมื่อพบคนดีก็ตระหนักในความดีความสามารถของเขา คือมีความเคารพแต่ขณะเดียวกัน ถ้าจะให้อ่อนเข้าไปหาเขาทำไม่ได้ ชอบเอาตัวเข้าไปเทียบด้วย แล้วใจของตัวก็พองรับทันทีว่า “ถึงเอ็งจะแน่ แต่ข้าก็หนึ่งเหมือนกัน” ใจของเขาจะพองเหมือน อึ่งอ่างพองลม คอยแต่คิดว่า “ข้าวิเศษกว่า” ทุกที

สิ่งที่คนทั่วไปหลงถือเอาทำให้ถือตัว

            ๑.        ชาติตระกูล เช่น คิดว่า “ตระกูลฉันนี้เป็นตระกูลใหญ่  เชื้อสาย  ผู้ดีเก่า พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย กี่รุ่นกี่รุ่นมีชื่อเสียงโด่งดังมาตลอด คนอื่นจะมาเทียบฉันได้อย่างไร” เมื่อหลงถือว่าตนมีชาติตระกูลสูงกว่าผู้อื่น  ความถือตัวก็เกิดขึ้น

            ๒.        ทรัพย์สมบัติ  เช่น  คิดว่า  “เฮอะ!ทรัพย์สินเงินทองของฉันมีมากมาย จะซื้อจะหาอะไรก็ได้อย่างใจ ไม่เห็นจะต้องไปง้อ ไปเกรงใจใคร” เมื่อหลงถือว่าตนมีทรัพย์สมบัติมากกว่าผู้อื่น  ความถือตัวก็เกิดขึ้น

            ๓.        รูปร่างหน้าตา เช่น คิดว่า “ฮึ!ฉันนี้สวยน้อยหน้าใครเสียเมื่อไหร่ดูซี ผิวก็ละเอียด จมูกก็โด่ง ตาก็กลม นางงามจักรวาลที่ว่าสวยๆ ลองมาเทียบกันดูซักทีเถอะน่า ไม่แน่หรอกว่าใครส่วยกว่ากัน” เมื่อหลงถือว่าตนมีรูปร่างหน้าตาดีกว่าผู้อื่น ความถือตัวก็เกิดขึ้น

            ๔.        ความรู้ความสามารถ เช่น คิดว่า “ฉันนี้ความรู้ระดับปริญญาโท ปริญญาเอก  ปริญญาที่ไหนที่ว่ายากๆ กวาดมาหมดแล้ว  ฝีมือก็แน่กว่าใคร  ใครๆ ก็สู้ฉันไม่ได้” เมื่อหลงถือว่าตนมีความรู้ความสามารถสูงกว่าผู้อื่น ความถือตัว ก็เกิดขึ้น

            ๕.        ยศตำแหน่ง เช่น คิดว่า “ฮึ!ฉันนี้มันชั้นผู้อำนวยการกอง อธิบดี ปลัดกระทรวง ซี ๘  ซี ๙  ซี ๑๐  ซี ๑๑ แล้ว  ใครจะมาแน่เท่าฉัน”  เมื่อหลงถือว่าตนมียศตำแหน่งสูงกว่าผู้อื่น ความถือตัวก็เกิดขึ้น

            ๖.        บริวาร เช่น คิดว่า “เฮอะ!สมัครพรรคพวก ลูกน้องฉันมีเยอะแยะใครจะกล้ามาหือ ใครจะกล้ามากำเริบเสิบสาน” เมื่อหลงถือว่าตนมีบริวารมากกว่าผู้อื่น ความถือตัวก็เกิดขึ้น

            คนทั่วไปมักหลงยึดเอาสิ่งต่างๆ ๖ ประการนี้  เป็นข้อถือดีของตัว ไม่เคยคิดว่าสิ่งต่างๆ ที่ว่านั้น  มันจะเป็นของเราตลอดไปหรือไม่  จีรังยั่งยืนหรือเปล่า  ที่ว่าหล่อๆ สวยๆ  พออายุสักหกสิบเจ็ดสิบจะมีใครอยากมอง  เศรษฐี มหาเศรษฐี ทำการค้าผิดพลาดเข้า ล่มจมกลายเป็นยาจกภายในวันเดียวก็มีตัวอย่างมามากแล้ว และถึงจะเป็นเศรษฐีไปจนตายก็ใช่ว่าจะขนเงินขนทองไปปรโลกด้วยได้เมื่อไหร่ ถ้าไม่รู้จักสร้างคุณงามความดี ถึงมีเงินทองมากเท่าไหร่ก็ไม่พ้นทุกข์ไปได้ ยิ่งรวยมากก็ยิ่งทุกข์มาก ทั้งหา ห่วง หวง ยศตำแหน่ง บริวารนั้นก็มิใช่ว่าจะคงอยู่กับเราอย่างนั้นตลอดไป ทุกอย่างไม่มีอะไรแน่นอน ไม่ใช่เป็นของเราจริงๆ เป็นเพียงสิ่งสมมุติกันขึ้นเพื่อให้คนในสังคมทำงานตามหน้าที่ของตนเท่านั้น สิ่งที่จะคงอยู่กับตัวเราอย่างแน่นอน และช่วยให้เราพ้นทุกข์ได้จริงๆ  คือความดีในตัวของเราต่างหาก

            และการที่เราถือตัวเย่อหยิ่งทะนงตนนั้น มันทำให้อะไรในตัวเราดีขึ้นบ้าง จะทำให้คนอื่นนับถือว่าตัวเรายิ่งใหญ่ก็หามิได้ รังแต่จะทำให้เขาเกลียดชังเหม็นหน้า เหมือนคนอยากให้คนอื่นรู้ว่าตัวอ้วนท้วนสมบูรณ์ จึงอมลมเข้าเต็มปากทำให้แก้มตุ่ย ใครเห็นเข้าแทนที่จะชม เขาก็มีแต่จะหัวเราะเยาะ และขืนอมลมอยู่อย่างนั้น  ข้าวก็กินไม่ได้น้ำก็กินไม่ได้  ตัวก็มีแต่จะผอมซูบซีดลงทุกที

            แท้จริง ผู้ที่จะเป็นผู้ยิ่งใหญ่ ได้รับการยกย่องนับถือจากคนอื่นทั้งกายและใจนั้น จะต้องเป็นผู้มีความอ่อนน้อมถ่อมตนอย่างเต็มที่เท่านั้น ผู้ที่ฉลาด จึงไม่ควรหลงยึดเอาสิ่งเหล่านี้มาทำให้ตนเกิดความถือตัว

           

โทษของการอวดดื้อถือดี

            ๑.        ทำให้เสียตน เพราะเป็นคนรับความดีจากคนอื่นไม่ได้ กลัวเสีย        เกียรติ  ประเมินค่าตนสูงกว่าความเป็นจริง  คิดแต่ว่าเราดีอยู่แล้ว  ใครๆ ก็สู้เราไม่ได้ โบราณท่านจึงมีคำสอนเตือนใจไว้ว่า”ลูกท่านหลานเธอ ลูกเจ้าบ้านหลานเจ้าวัด มักจะเอาดีไม่ค่อยได้” เพราะมักจะติดนิสัยอวดดีถือตัว ยโสโอหัง จึงไม่มีใครอยากแนะนำสั่งสอนให้ ทำผิดก็ไม่มีใครอยากเตือน สุดท้ายก็คบอยู่แต่กับพวกประจบสอพลอ  ทำผิดถลำลึกไปทุกทีจนสุดทางแก้

            ๒.        ทำให้เสียมิตร  เพราะเป็นคนเจ้ายศเจ้าอย่าง  ที่ไม่ควรถือก็ถือ ไม่ควรโกรธก็โกรธ จึงไม่มีใครอยากคบด้วย คนพวกนี้ถึงแม้ในเบื้องต้นอยากจะทำความดี แต่ทำไปได้ไม่กี่น้ำก็จอดเพราะไม่มีคนสนับสนุน เป็นเหมือนเจดีย์ฐานแคบ  ไม่สามารถสร้างให้สูงขึ้นไปได้

            ๓.        ทำให้เสียหมู่คณะ เพราะเป็นคนอวดเบ่ง จะเอาแต่อภิสิทธิ์ ทำให้เสียระเบียบวินัย หมู่คณะแตกแยก

            หมู่คณะใดที่สมาชิกมีความอ่อนน้อมถ่อมตน  แม้บางครั้งจะมีการทะเลาะเบาะแว้งกันบ้าง แต่ไม่นานก็สามารถสมานสามัคคี ป้องกันอันตรายทั้งหลายได้โดยง่าย เหมือนดินเหนียวในท้องนายามหน้าแล้งก็แตกระแหงเป็นร่องลึก ดูเหมือนไม่มีทางที่จะประสานรวมกันได้อีกแล้ว แต่พอฝนตกลงมาซู่เดียวก็สามารถประสานคืนเป็นผืนเดียวกันได้อย่างน่าอัศจรรย์

            ส่วนหมู่คณะใดที่สมาชิกมีความถือตัวจัด จึงไม่มีทางที่หมู่คณะนั้นจะเกิดความสมานสามัคคีกันได้ เหมือนดินทรายที่แม้ฝนจะตกจนน้ำท่วมฟ้าก็ไม่มีทางประสานรวมกันได้สนิท  เช่นประเทศอินเดียในอดีตซึ่งพลเมืองมีความถือตัวจัด แบ่งชั้นวรรณะกันอย่างหนัก แม้เพียงคนวรรณะสูงไปเห็นคนวรรณะต่ำ เห็นคนจัณฑาลเข้าก็ต้องรีบไปเอาน้ำล้างตา  เพราะกลัวเสนียดจัญไรจะติด  เพราะถือตัวกันอย่างนี้  พอถึงคราวมีข้าศึกรุกราน  เลยไม่มีใครช่วยใครกำจัดศัตรู ปล่อยให้ศัตรูเข้ายึดครองประเทศโดยง่าย พวกคนวรรณะต่ำก็คิดว่าดีแล้ว คนวรรณะสูงๆ  จะได้รู้สึกเสียบ้าง    คนวรรณะสูงด้วยกันเองก็ยังถือตัวทะเลาะรบกันเอง  เพราะถือตัวกันอย่างนี้  แม้มีพลเมืองมากหลายร้อยล้านคนก็ยังตกเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ  ซึ่งส่งทหารมาเพียงแค่หยิบมือเดียว

 

“นระใดกระด้างโดยชาติ

กระด้างโดยทรัพย์ และกระด้างโดยโคตร

ย่อมดูหมิ่นแม้ญาติของตน

กรรม ๔ อย่างของนระนั้น  เป็นทางแห่งความเสื่อม”

(ปราภวสูตร)  ขุ. สุ. ๒๕/๓๐๔/๓๔๗

 

วิธีแก้ความอวดดื้อถือดี

            ๑.ต้องคบกัลยาณมิตร คือคบคนดี จะได้คอยแนะนำเตือนสติเราให้ประเมินค่าของตนเองถูกต้องตามความเป็นจริง คอยแนะนำปลูกสร้างนิสัยดีๆ ให้กับเรา ไม่คบคนประจบสอพลอซึ่งจะพาเราไปในทางเสีย นอกจากนี้จะต้องแสดงความเคารพบูชาบุคคลที่ควรบูชาเสมอๆ เราจะได้ตระหนักเสมอว่า ผู้ที่มีคุณธรรมสูงกว่าเรายังมีอยู่

            ๒.ต้องมีโยนิโสมนสิการ คือรู้จักคิดไตร่ตรองเอง เช่น พิจารณาว่า คนเราไม่ได้อยู่ค้ำฟ้า ถึงจะเก่งอย่างไรในที่สุดก็ต้องตายเหมือนกัน  ตัวเราเองก็ไม่ได้วิเศษกว่าคนอื่นเลย ขณะเดียวกัน สิ่งใดที่เป็นข้อถือตัวของเรา เช่น ชาติตระกูล ฐานะ รูปร่างหน้าตา ตำแหน่งหน้าที่การงาน  บริวาร  ให้หมั่นนำสิ่งนั้นมาพิจารณาเนืองๆ ว่า  สิ่งเหล่านั้นก็ไม่เที่ยงแท้  ไม่จีรังยั่งยืน  ไม่ได้อยู่กับเราตลอดไปเช่นเดียวกัน

 

ลักษณะของผู้มีความถ่อมตน

            ผู้มีความถ่อมตน จะเป็นผู้ที่รู้คุณค่าของตนตามความเป็นจริง เจียม             เนื้อเจียมตัว  ทำให้มีลักษณะอาการแสดงออกที่ดีเด่นกว่าคนทั้งหลาย ๓ ประการ ดังนี้

            ๑.มีกิริยาอ่อนน้อม คือไม่ลดตัวลงจนเกินควร และไม่ถือตัวจนเกินงาม มีกิริยาอันเป็นที่รัก อ่อนโยนละมุนละไมต่อคนทั่วไป ทั้งผู้ใหญ่ผู้น้อยและผู้เสมอกัน รู้ที่ต่ำที่สูง ไม่ตีตนเสมอท่าน มีคุณสมบัติผู้ดี สำหรับแสดงแก่คนทั้งหลายโดยเสมอหน้ากัน ไม่เลือกว่าเขาจะมีฐานะสูงกว่าหรือต่ำกว่าตน สงบเสงี่ยม    แต่ก็มีความองอาจ ผึ่งผายในตัว

            ๒.มีวาจาอ่อนหวาน คือมีคำพูดที่ไพเราะน่าฟัง ออกมาจากใจที่ใสสะอาดนุ่มนวล ไม่แข็งกระด้าง ไม่พูดโอ้อวดยกตัว และไม่พูดกล่าวโทษลบหลู่ทับถมคนอื่น เมื่อตนทำพลาดพลั้งสิ่งใดต่อใคร ย่อมออกวาจาขอโทษเสมอ เมื่อผู้ใดแสดงคุณต่อตนอย่างไรก็ออกวาจาขอบคุณเขาเสมอ ไม่พูดเยาะเย้ยถากถางผู้ทำผิดพลาด ไม่ใช้วาจาข่มขู่ผู้อื่น  เห็นใครทำดีก็ชมเชยสรรเสริญจากใจจริง

            ๓.มีใจอ่อนโยน คือมีใจนอบน้อม ละมุนละม่อม ถ่อมตัว มีใจอ่อนละไมแต่มิใช่อ่อนแอ มีใจเข้มแข็งแต่มิใช่แข็งกระด้าง ไม่นิยมอวดกำลังความสามารถ  แต่พยายามฝึกตนเองให้มีความสามารถ  ถือคติว่า “จงมีแรงเหมือนยักษ์ แต่อย่าใช้แรงอย่างยักษ์” ไม่ถือความคิดของตัวเป็นใหญ่ มีใจเปิดกว้าง ยอมรับความคิดเห็นของคนอื่น รู้จักลดหย่อนผ่อนผันแก่กัน ถือคติว่า “ไม้ลำเดียวยังต่างปล้อง พี่น้องยังต่างใจ สิบคนสิบความรู้ สิบคนสิบความคิด แม้สิบคนก็สิบความเห็น”  เมื่อใครเขาไม่เห็นพ้องกับตนก็ไม่ด่วนโกรธ  แล้วค่อยๆ ปรับความคิดเห็นเข้าหากัน โดยยึดเอาคำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นแกนกลาง

 

ตัวอย่างผู้มีความอ่อนน้อมถ่อมตน

            ครั้งหนึ่ง พระสารีบุตรถูกพระภิกษุรูปหนึ่งใส่ความว่า ทะนงตนว่าเป็นอัครสาวกแล้วแกล้งมาเดินกระทบตน พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงตรัสถามพระ-สารีบุตรในที่ประชุมสงฆ์ว่าเป็นจริงหรือไม่

            พระสารีบุตรทูลตอบว่า ภิกษุที่มิได้มีสติประคองจิตไว้ในกาย ก็จะพึงกระทบเพื่อนสพรหมจารีแล้วจากไปโดยไม่ขอโทษเป็นแน่ แต่ตัวท่านเองนั้น ทำใจเสมือนแผ่นดิน น้ำ ไฟ ลม และผ้าขี้ริ้วที่จะต้องพบกับของสะอาดบ้าง ไม่สะดวกบ้างอยู่เสมอ และเสมือนเด็กจัณฑาลที่พลัดเข้าไปในหมู่บ้าน หรือเหมือนโคที่เขาหักเสียแล้ว ย่อมไม่มีอำนาจที่จะแกล้วกล้าอาจหาญได้แต่อย่างใด ท่านมีแต่ความเบื่อระอาร่างกายอันเปื่อยเน่าน่ารังเกียจนี้ ที่ยังต้องดูแลประคับประคองอยู่ ประดุจต้องประคองถาดมันข้นที่มีช่องทะลุถึง ๙ ช่อง และมีน้ำมันรั่วไหลออกอยู่เสมอ ย่อมไม่มีใจที่จะไปกระด้างถือตัวกับใครได้

ลองพิจารณาดูเถิดว่า ขนาดพระสารีบุตร ซึ่งก็บวชก็ร่ำเรียนเจนจบในวิชา ๑๘ ประการมาแล้ว เปรียบสมัยนี้ก็เท่ากับปริญญา ๑๘ สาขา บวชแล้วก็ได้เป็นพระอรหันต์ เป็นอัครสาวกเบื้องขวาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ยังมีความอ่อนน้อมถ่อมตนถึงเพียงนี้ มีความเจียมตัวตลอดเวลา เปรียบตัวเองเหมือนผ้าขี้ริ้วเก่าๆ เหมือนโคที่เขาขาดแล้วเหมือนเด็กจัณฑาล ซึ่งเป็นคนชั้นต่ำสุดในอินเดียสมัยนั้น ไม่มีความถือตัวทะนงตนแม้แต่น้อย แล้วพวกเราซึ่งยังเป็นปุถุชนธรรมดาๆ อยู่นี่ล่ะ มีดีอะไรมากนักหนาจึงจะมาถือตัวกัน

            เมื่อพระสารีบุตรกล่าวอยู่เช่นนี้ พระภิกษุรูปนั้นก็เกิดความเร่าร้อนในสรีระเหมือนมีไฟมาเผาตัว อดรนทนอยู่ไม่ได้ ต้องลุกขึ้นขอโทษพระสารีบุตร และยอมรับสารภาพต่อหมู่สงฆ์ว่ากล่าวตู่ใส่ความพระสารีบุตร

            พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสสรรเสริญพระสารีบุตรว่า “มีใจมั่นคงเหมือนแผ่นดิน เหมือนเสาเขื่อน เป็นผู้คงที่และมีวัตรดี เป็นผู้ใสสะอาด เหมือนน้ำที่ไม่มีฝุ่นหรือโคลนตม สังสารวัฏย่อมไม่มีแก่บุคคลเช่นนี้”

 

อานิสงส์การมีความถ่อมตน

            ๑.ทำให้อยู่เป็นสุข ไม่มีศัตรู

            ๒.ทำให้น่ารัก น่านับถือ น่าเคารพกราบไหว้

            ๓.ทำให้เกิดความสามัคคีในหมู่คณะ

            ๔.ทำให้ได้กัลยาณมิตร

            ๕.ทำให้สามารถถ่ายทอดคุณความดีจากผู้อื่นได้

            ๖.ทำให้ได้ที่พึ่งทั้งภพนี้ภพหน้า

            ๗.ทำให้ไม่ประมาท ตั้งอยู่ในธรรม

            ๘.ทำให้บรรลุมรรคผลนิพพานโดยง่าย

                                    ฯลฯ

 

“บุคคลผู้เป็นบัณฑิตถึงพร้อมด้วยศีล ละเอียด มีปฏิภาณไหวพริบ ประพฤติถ่อมตน และไม่กระด้างเช่นนั้น ย่อมได้ยศ”

หนังสือมงคลชีวิต 38 ประการ ฉบับทางก้าวหน้า

 โดย พระมหาสมชาย ฐานวุฑโฒ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย