วันพุธที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2566

มงคลที่ 23 มีความถ่อมตน

                     มงคล ที่ ๒๓  มีความถ่อมตน

มหาสมุทรซึ่งเป็นที่ไหลมารวมกันของน้ำจากทุกสารทิศ

จะต้องมีระดับพื้นที่

ต่ำกว่าพื้นที่ตรงต้นน้ำทั้งหลายฉันใด

ผู้ที่ต้องการจะรับการถ่ายทอดคุณความดีจากบุคคลทั้งหลาย

ก็จะต้องมีความอ่อนน้อมถ่อมตนก่อนฉันนั้น

*****************************

ความถ่อมตน คือ อะไร ?

            ความถ่อมตน  มาจากภาษาบาลีว่า  นิวาโต

            วาโต    แปลว่า ลม พองลม

            นิ         แปลว่า ไม่มี ออก

            นิวาโต แปลว่า ไม่พองลม เอาลมออกแล้ว คือเอามานะทิฏฐิออก มีความสงบเสงี่ยม เจียมตน ไม่เบ่ง ไม่ทะนงตน ไม่มีความมานะถือตัว ไม่อวดดื้อถือดี ไม่ยโสโอหัง ไม่ดูถูกเหยียดหยามใคร ไม่กระด้าง ไม่เย่อหยิ่งจองหอง

ความแตกต่างระหว่าง

ความเคารพกับความถ่อมตน

            ความเคารพ เป็นการปรารภผู้อื่น คือตระหนักในคุณความดีของผู้อื่น พบใครก็คอยจ้องหาข้อดีของเขา ไม่จับผิด สามารถประเมินคุณค่าของ   ผู้อื่นได้ตามความเป็นจริง แล้วแสดงอาการเคารพนับถือด้วยกาย วาจา ใจ

            ความถ่อมตน เป็นการปรารภตนเอง คือคอยตามพิจารณาข้อบกพร่องขอตนเอง จับผิดตัวเอง สามารถประเมินค่าของตนเองได้ถูกต้องตามความเป็นจริง ไม่อวดดื้อถือดี  สามารถน้อมตัวลงเพื่อถ่ายทอดคุณความดีของผู้อื่นเข้าสู่ตนเองได้อย่างเต็มที่

            คนที่มีความเคารพอาจขาดความถ่อมตนก็ได้ เช่น บางคนเมื่อพบคนดีก็ตระหนักในความดีความสามารถของเขา คือมีความเคารพแต่ขณะเดียวกัน ถ้าจะให้อ่อนเข้าไปหาเขาทำไม่ได้ ชอบเอาตัวเข้าไปเทียบด้วย แล้วใจของตัวก็พองรับทันทีว่า “ถึงเอ็งจะแน่ แต่ข้าก็หนึ่งเหมือนกัน” ใจของเขาจะพองเหมือน อึ่งอ่างพองลม คอยแต่คิดว่า “ข้าวิเศษกว่า” ทุกที

สิ่งที่คนทั่วไปหลงถือเอาทำให้ถือตัว

            ๑.        ชาติตระกูล เช่น คิดว่า “ตระกูลฉันนี้เป็นตระกูลใหญ่  เชื้อสาย  ผู้ดีเก่า พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย กี่รุ่นกี่รุ่นมีชื่อเสียงโด่งดังมาตลอด คนอื่นจะมาเทียบฉันได้อย่างไร” เมื่อหลงถือว่าตนมีชาติตระกูลสูงกว่าผู้อื่น  ความถือตัวก็เกิดขึ้น

            ๒.        ทรัพย์สมบัติ  เช่น  คิดว่า  “เฮอะ!ทรัพย์สินเงินทองของฉันมีมากมาย จะซื้อจะหาอะไรก็ได้อย่างใจ ไม่เห็นจะต้องไปง้อ ไปเกรงใจใคร” เมื่อหลงถือว่าตนมีทรัพย์สมบัติมากกว่าผู้อื่น  ความถือตัวก็เกิดขึ้น

            ๓.        รูปร่างหน้าตา เช่น คิดว่า “ฮึ!ฉันนี้สวยน้อยหน้าใครเสียเมื่อไหร่ดูซี ผิวก็ละเอียด จมูกก็โด่ง ตาก็กลม นางงามจักรวาลที่ว่าสวยๆ ลองมาเทียบกันดูซักทีเถอะน่า ไม่แน่หรอกว่าใครส่วยกว่ากัน” เมื่อหลงถือว่าตนมีรูปร่างหน้าตาดีกว่าผู้อื่น ความถือตัวก็เกิดขึ้น

            ๔.        ความรู้ความสามารถ เช่น คิดว่า “ฉันนี้ความรู้ระดับปริญญาโท ปริญญาเอก  ปริญญาที่ไหนที่ว่ายากๆ กวาดมาหมดแล้ว  ฝีมือก็แน่กว่าใคร  ใครๆ ก็สู้ฉันไม่ได้” เมื่อหลงถือว่าตนมีความรู้ความสามารถสูงกว่าผู้อื่น ความถือตัว ก็เกิดขึ้น

            ๕.        ยศตำแหน่ง เช่น คิดว่า “ฮึ!ฉันนี้มันชั้นผู้อำนวยการกอง อธิบดี ปลัดกระทรวง ซี ๘  ซี ๙  ซี ๑๐  ซี ๑๑ แล้ว  ใครจะมาแน่เท่าฉัน”  เมื่อหลงถือว่าตนมียศตำแหน่งสูงกว่าผู้อื่น ความถือตัวก็เกิดขึ้น

            ๖.        บริวาร เช่น คิดว่า “เฮอะ!สมัครพรรคพวก ลูกน้องฉันมีเยอะแยะใครจะกล้ามาหือ ใครจะกล้ามากำเริบเสิบสาน” เมื่อหลงถือว่าตนมีบริวารมากกว่าผู้อื่น ความถือตัวก็เกิดขึ้น

            คนทั่วไปมักหลงยึดเอาสิ่งต่างๆ ๖ ประการนี้  เป็นข้อถือดีของตัว ไม่เคยคิดว่าสิ่งต่างๆ ที่ว่านั้น  มันจะเป็นของเราตลอดไปหรือไม่  จีรังยั่งยืนหรือเปล่า  ที่ว่าหล่อๆ สวยๆ  พออายุสักหกสิบเจ็ดสิบจะมีใครอยากมอง  เศรษฐี มหาเศรษฐี ทำการค้าผิดพลาดเข้า ล่มจมกลายเป็นยาจกภายในวันเดียวก็มีตัวอย่างมามากแล้ว และถึงจะเป็นเศรษฐีไปจนตายก็ใช่ว่าจะขนเงินขนทองไปปรโลกด้วยได้เมื่อไหร่ ถ้าไม่รู้จักสร้างคุณงามความดี ถึงมีเงินทองมากเท่าไหร่ก็ไม่พ้นทุกข์ไปได้ ยิ่งรวยมากก็ยิ่งทุกข์มาก ทั้งหา ห่วง หวง ยศตำแหน่ง บริวารนั้นก็มิใช่ว่าจะคงอยู่กับเราอย่างนั้นตลอดไป ทุกอย่างไม่มีอะไรแน่นอน ไม่ใช่เป็นของเราจริงๆ เป็นเพียงสิ่งสมมุติกันขึ้นเพื่อให้คนในสังคมทำงานตามหน้าที่ของตนเท่านั้น สิ่งที่จะคงอยู่กับตัวเราอย่างแน่นอน และช่วยให้เราพ้นทุกข์ได้จริงๆ  คือความดีในตัวของเราต่างหาก

            และการที่เราถือตัวเย่อหยิ่งทะนงตนนั้น มันทำให้อะไรในตัวเราดีขึ้นบ้าง จะทำให้คนอื่นนับถือว่าตัวเรายิ่งใหญ่ก็หามิได้ รังแต่จะทำให้เขาเกลียดชังเหม็นหน้า เหมือนคนอยากให้คนอื่นรู้ว่าตัวอ้วนท้วนสมบูรณ์ จึงอมลมเข้าเต็มปากทำให้แก้มตุ่ย ใครเห็นเข้าแทนที่จะชม เขาก็มีแต่จะหัวเราะเยาะ และขืนอมลมอยู่อย่างนั้น  ข้าวก็กินไม่ได้น้ำก็กินไม่ได้  ตัวก็มีแต่จะผอมซูบซีดลงทุกที

            แท้จริง ผู้ที่จะเป็นผู้ยิ่งใหญ่ ได้รับการยกย่องนับถือจากคนอื่นทั้งกายและใจนั้น จะต้องเป็นผู้มีความอ่อนน้อมถ่อมตนอย่างเต็มที่เท่านั้น ผู้ที่ฉลาด จึงไม่ควรหลงยึดเอาสิ่งเหล่านี้มาทำให้ตนเกิดความถือตัว

           

โทษของการอวดดื้อถือดี

            ๑.        ทำให้เสียตน เพราะเป็นคนรับความดีจากคนอื่นไม่ได้ กลัวเสีย        เกียรติ  ประเมินค่าตนสูงกว่าความเป็นจริง  คิดแต่ว่าเราดีอยู่แล้ว  ใครๆ ก็สู้เราไม่ได้ โบราณท่านจึงมีคำสอนเตือนใจไว้ว่า”ลูกท่านหลานเธอ ลูกเจ้าบ้านหลานเจ้าวัด มักจะเอาดีไม่ค่อยได้” เพราะมักจะติดนิสัยอวดดีถือตัว ยโสโอหัง จึงไม่มีใครอยากแนะนำสั่งสอนให้ ทำผิดก็ไม่มีใครอยากเตือน สุดท้ายก็คบอยู่แต่กับพวกประจบสอพลอ  ทำผิดถลำลึกไปทุกทีจนสุดทางแก้

            ๒.        ทำให้เสียมิตร  เพราะเป็นคนเจ้ายศเจ้าอย่าง  ที่ไม่ควรถือก็ถือ ไม่ควรโกรธก็โกรธ จึงไม่มีใครอยากคบด้วย คนพวกนี้ถึงแม้ในเบื้องต้นอยากจะทำความดี แต่ทำไปได้ไม่กี่น้ำก็จอดเพราะไม่มีคนสนับสนุน เป็นเหมือนเจดีย์ฐานแคบ  ไม่สามารถสร้างให้สูงขึ้นไปได้

            ๓.        ทำให้เสียหมู่คณะ เพราะเป็นคนอวดเบ่ง จะเอาแต่อภิสิทธิ์ ทำให้เสียระเบียบวินัย หมู่คณะแตกแยก

            หมู่คณะใดที่สมาชิกมีความอ่อนน้อมถ่อมตน  แม้บางครั้งจะมีการทะเลาะเบาะแว้งกันบ้าง แต่ไม่นานก็สามารถสมานสามัคคี ป้องกันอันตรายทั้งหลายได้โดยง่าย เหมือนดินเหนียวในท้องนายามหน้าแล้งก็แตกระแหงเป็นร่องลึก ดูเหมือนไม่มีทางที่จะประสานรวมกันได้อีกแล้ว แต่พอฝนตกลงมาซู่เดียวก็สามารถประสานคืนเป็นผืนเดียวกันได้อย่างน่าอัศจรรย์

            ส่วนหมู่คณะใดที่สมาชิกมีความถือตัวจัด จึงไม่มีทางที่หมู่คณะนั้นจะเกิดความสมานสามัคคีกันได้ เหมือนดินทรายที่แม้ฝนจะตกจนน้ำท่วมฟ้าก็ไม่มีทางประสานรวมกันได้สนิท  เช่นประเทศอินเดียในอดีตซึ่งพลเมืองมีความถือตัวจัด แบ่งชั้นวรรณะกันอย่างหนัก แม้เพียงคนวรรณะสูงไปเห็นคนวรรณะต่ำ เห็นคนจัณฑาลเข้าก็ต้องรีบไปเอาน้ำล้างตา  เพราะกลัวเสนียดจัญไรจะติด  เพราะถือตัวกันอย่างนี้  พอถึงคราวมีข้าศึกรุกราน  เลยไม่มีใครช่วยใครกำจัดศัตรู ปล่อยให้ศัตรูเข้ายึดครองประเทศโดยง่าย พวกคนวรรณะต่ำก็คิดว่าดีแล้ว คนวรรณะสูงๆ  จะได้รู้สึกเสียบ้าง    คนวรรณะสูงด้วยกันเองก็ยังถือตัวทะเลาะรบกันเอง  เพราะถือตัวกันอย่างนี้  แม้มีพลเมืองมากหลายร้อยล้านคนก็ยังตกเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ  ซึ่งส่งทหารมาเพียงแค่หยิบมือเดียว

 

“นระใดกระด้างโดยชาติ

กระด้างโดยทรัพย์ และกระด้างโดยโคตร

ย่อมดูหมิ่นแม้ญาติของตน

กรรม ๔ อย่างของนระนั้น  เป็นทางแห่งความเสื่อม”

(ปราภวสูตร)  ขุ. สุ. ๒๕/๓๐๔/๓๔๗

 

วิธีแก้ความอวดดื้อถือดี

            ๑.ต้องคบกัลยาณมิตร คือคบคนดี จะได้คอยแนะนำเตือนสติเราให้ประเมินค่าของตนเองถูกต้องตามความเป็นจริง คอยแนะนำปลูกสร้างนิสัยดีๆ ให้กับเรา ไม่คบคนประจบสอพลอซึ่งจะพาเราไปในทางเสีย นอกจากนี้จะต้องแสดงความเคารพบูชาบุคคลที่ควรบูชาเสมอๆ เราจะได้ตระหนักเสมอว่า ผู้ที่มีคุณธรรมสูงกว่าเรายังมีอยู่

            ๒.ต้องมีโยนิโสมนสิการ คือรู้จักคิดไตร่ตรองเอง เช่น พิจารณาว่า คนเราไม่ได้อยู่ค้ำฟ้า ถึงจะเก่งอย่างไรในที่สุดก็ต้องตายเหมือนกัน  ตัวเราเองก็ไม่ได้วิเศษกว่าคนอื่นเลย ขณะเดียวกัน สิ่งใดที่เป็นข้อถือตัวของเรา เช่น ชาติตระกูล ฐานะ รูปร่างหน้าตา ตำแหน่งหน้าที่การงาน  บริวาร  ให้หมั่นนำสิ่งนั้นมาพิจารณาเนืองๆ ว่า  สิ่งเหล่านั้นก็ไม่เที่ยงแท้  ไม่จีรังยั่งยืน  ไม่ได้อยู่กับเราตลอดไปเช่นเดียวกัน

 

ลักษณะของผู้มีความถ่อมตน

            ผู้มีความถ่อมตน จะเป็นผู้ที่รู้คุณค่าของตนตามความเป็นจริง เจียม             เนื้อเจียมตัว  ทำให้มีลักษณะอาการแสดงออกที่ดีเด่นกว่าคนทั้งหลาย ๓ ประการ ดังนี้

            ๑.มีกิริยาอ่อนน้อม คือไม่ลดตัวลงจนเกินควร และไม่ถือตัวจนเกินงาม มีกิริยาอันเป็นที่รัก อ่อนโยนละมุนละไมต่อคนทั่วไป ทั้งผู้ใหญ่ผู้น้อยและผู้เสมอกัน รู้ที่ต่ำที่สูง ไม่ตีตนเสมอท่าน มีคุณสมบัติผู้ดี สำหรับแสดงแก่คนทั้งหลายโดยเสมอหน้ากัน ไม่เลือกว่าเขาจะมีฐานะสูงกว่าหรือต่ำกว่าตน สงบเสงี่ยม    แต่ก็มีความองอาจ ผึ่งผายในตัว

            ๒.มีวาจาอ่อนหวาน คือมีคำพูดที่ไพเราะน่าฟัง ออกมาจากใจที่ใสสะอาดนุ่มนวล ไม่แข็งกระด้าง ไม่พูดโอ้อวดยกตัว และไม่พูดกล่าวโทษลบหลู่ทับถมคนอื่น เมื่อตนทำพลาดพลั้งสิ่งใดต่อใคร ย่อมออกวาจาขอโทษเสมอ เมื่อผู้ใดแสดงคุณต่อตนอย่างไรก็ออกวาจาขอบคุณเขาเสมอ ไม่พูดเยาะเย้ยถากถางผู้ทำผิดพลาด ไม่ใช้วาจาข่มขู่ผู้อื่น  เห็นใครทำดีก็ชมเชยสรรเสริญจากใจจริง

            ๓.มีใจอ่อนโยน คือมีใจนอบน้อม ละมุนละม่อม ถ่อมตัว มีใจอ่อนละไมแต่มิใช่อ่อนแอ มีใจเข้มแข็งแต่มิใช่แข็งกระด้าง ไม่นิยมอวดกำลังความสามารถ  แต่พยายามฝึกตนเองให้มีความสามารถ  ถือคติว่า “จงมีแรงเหมือนยักษ์ แต่อย่าใช้แรงอย่างยักษ์” ไม่ถือความคิดของตัวเป็นใหญ่ มีใจเปิดกว้าง ยอมรับความคิดเห็นของคนอื่น รู้จักลดหย่อนผ่อนผันแก่กัน ถือคติว่า “ไม้ลำเดียวยังต่างปล้อง พี่น้องยังต่างใจ สิบคนสิบความรู้ สิบคนสิบความคิด แม้สิบคนก็สิบความเห็น”  เมื่อใครเขาไม่เห็นพ้องกับตนก็ไม่ด่วนโกรธ  แล้วค่อยๆ ปรับความคิดเห็นเข้าหากัน โดยยึดเอาคำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นแกนกลาง

 

ตัวอย่างผู้มีความอ่อนน้อมถ่อมตน

            ครั้งหนึ่ง พระสารีบุตรถูกพระภิกษุรูปหนึ่งใส่ความว่า ทะนงตนว่าเป็นอัครสาวกแล้วแกล้งมาเดินกระทบตน พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงตรัสถามพระ-สารีบุตรในที่ประชุมสงฆ์ว่าเป็นจริงหรือไม่

            พระสารีบุตรทูลตอบว่า ภิกษุที่มิได้มีสติประคองจิตไว้ในกาย ก็จะพึงกระทบเพื่อนสพรหมจารีแล้วจากไปโดยไม่ขอโทษเป็นแน่ แต่ตัวท่านเองนั้น ทำใจเสมือนแผ่นดิน น้ำ ไฟ ลม และผ้าขี้ริ้วที่จะต้องพบกับของสะอาดบ้าง ไม่สะดวกบ้างอยู่เสมอ และเสมือนเด็กจัณฑาลที่พลัดเข้าไปในหมู่บ้าน หรือเหมือนโคที่เขาหักเสียแล้ว ย่อมไม่มีอำนาจที่จะแกล้วกล้าอาจหาญได้แต่อย่างใด ท่านมีแต่ความเบื่อระอาร่างกายอันเปื่อยเน่าน่ารังเกียจนี้ ที่ยังต้องดูแลประคับประคองอยู่ ประดุจต้องประคองถาดมันข้นที่มีช่องทะลุถึง ๙ ช่อง และมีน้ำมันรั่วไหลออกอยู่เสมอ ย่อมไม่มีใจที่จะไปกระด้างถือตัวกับใครได้

ลองพิจารณาดูเถิดว่า ขนาดพระสารีบุตร ซึ่งก็บวชก็ร่ำเรียนเจนจบในวิชา ๑๘ ประการมาแล้ว เปรียบสมัยนี้ก็เท่ากับปริญญา ๑๘ สาขา บวชแล้วก็ได้เป็นพระอรหันต์ เป็นอัครสาวกเบื้องขวาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ยังมีความอ่อนน้อมถ่อมตนถึงเพียงนี้ มีความเจียมตัวตลอดเวลา เปรียบตัวเองเหมือนผ้าขี้ริ้วเก่าๆ เหมือนโคที่เขาขาดแล้วเหมือนเด็กจัณฑาล ซึ่งเป็นคนชั้นต่ำสุดในอินเดียสมัยนั้น ไม่มีความถือตัวทะนงตนแม้แต่น้อย แล้วพวกเราซึ่งยังเป็นปุถุชนธรรมดาๆ อยู่นี่ล่ะ มีดีอะไรมากนักหนาจึงจะมาถือตัวกัน

            เมื่อพระสารีบุตรกล่าวอยู่เช่นนี้ พระภิกษุรูปนั้นก็เกิดความเร่าร้อนในสรีระเหมือนมีไฟมาเผาตัว อดรนทนอยู่ไม่ได้ ต้องลุกขึ้นขอโทษพระสารีบุตร และยอมรับสารภาพต่อหมู่สงฆ์ว่ากล่าวตู่ใส่ความพระสารีบุตร

            พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสสรรเสริญพระสารีบุตรว่า “มีใจมั่นคงเหมือนแผ่นดิน เหมือนเสาเขื่อน เป็นผู้คงที่และมีวัตรดี เป็นผู้ใสสะอาด เหมือนน้ำที่ไม่มีฝุ่นหรือโคลนตม สังสารวัฏย่อมไม่มีแก่บุคคลเช่นนี้”

 

อานิสงส์การมีความถ่อมตน

            ๑.ทำให้อยู่เป็นสุข ไม่มีศัตรู

            ๒.ทำให้น่ารัก น่านับถือ น่าเคารพกราบไหว้

            ๓.ทำให้เกิดความสามัคคีในหมู่คณะ

            ๔.ทำให้ได้กัลยาณมิตร

            ๕.ทำให้สามารถถ่ายทอดคุณความดีจากผู้อื่นได้

            ๖.ทำให้ได้ที่พึ่งทั้งภพนี้ภพหน้า

            ๗.ทำให้ไม่ประมาท ตั้งอยู่ในธรรม

            ๘.ทำให้บรรลุมรรคผลนิพพานโดยง่าย

                                    ฯลฯ

 

“บุคคลผู้เป็นบัณฑิตถึงพร้อมด้วยศีล ละเอียด มีปฏิภาณไหวพริบ ประพฤติถ่อมตน และไม่กระด้างเช่นนั้น ย่อมได้ยศ”

หนังสือมงคลชีวิต 38 ประการ ฉบับทางก้าวหน้า

 โดย พระมหาสมชาย ฐานวุฑโฒ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย


วันอาทิตย์ที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2566

มงคล ที่ 22 มีความเคารพ

                              มงคล ที่ ๒๒  มีความเคารพ

************************

                            เมื่อจะใช้ประโยชน์จากสิ่งใด

เราจำเป็นต้องรู้ถึงคุณค่าของสิ่งนั้นก่อนฉันใด

ผู้ที่จะรับประโยชน์จากบุคคลอื่นได้

ก็จำเป็นต้องมีความเคารพต่อบุคคลทั้งหลายก่อนฉันนั้น

 

                       ************************

ความเคารพ คือ อะไร ?

            ความเคารพ หมายถึง ความตระหนัก ซาบซึ้ง รู้ถึงคุณความดีที่มี อยู่จริงของบุคคลอื่น ยอมรับนับถือความดีของเขาด้วยใจจริง แล้วแสดงความนับถือต่อผู้นั้นด้วยการแสดงความอ่อนน้อม อ่อนโยน อย่างเหมาะสม ทั้งต่อหน้าและลับหลัง

              ดังนั้น คนที่มีปัญญามากจนกระทั่งตระหนักในคุณความดีของผู้อื่น จึงจัดเป็นคนพิเศษจริงๆ เพราะใจของเขาได้ยกสูงขึ้นแล้ว พ้นจากความถือตัวต่างๆ เปิดกว้างพร้อมที่จะรองรับความดีจากผู้อื่นเข้าสู่ตน คนชนิดนี้คือ คนที่มีความเคารพ

  

สิ่งที่ควรเคารพอย่างยิ่ง

            ในโลกนี้มีคน สัตว์ สิ่งของ เหตุการณ์ การงาน และอื่นๆ อีกมากมายจนนับไม่ถ้วนที่เกี่ยวข้องกับตัวเรา แต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแนะให้เรามีความเคารพ ไม่ดูเบา  ตระหนักในสิ่งมีคุณค่าที่สำคัญ ๗ ประการ ได้แก่

            ๑.ให้มีความเคารพในพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

            ๒.ให้มีความเคารพในพระธรรม

            ๓.ให้มีความเคารพในพระสงฆ์

            ๔.ให้มีความเคารพในการศึกษา

            ๕.ให้มีความเคารพในสมาธิ

            ๖.ให้มีความเคารพในความไม่ประมาท

            ๗.ให้มีความเคารพในการต้อนรับแขก

            ความเคารพในพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คือตระหนักถึงพระคุณความดีอันมีอยู่ในพระองค์ ซึ่งกล่าวโดยย่อได้แก่ พระปัญญาคุณ พระบริสุทธิคุณ และพระมหากรุณาธิคุณ  แล้วแสดงออกซึ่งความเคารพ ดังนี้

             สมัยเมื่อพระองค์ยังทรงพระชนม์อยู่ ก็แสดงความเคารพโดย

            ๑. เข้าเฝ้าทั้ง ๓ กาล  คือเช้า กลางวัน เย็น

            ๒. เมื่อพระองค์ไม่สวมรองเท้าจงกรม  เราจะไม่สวมรองเท้าจงกรม

            ๓. เมื่อพระองค์จงกรมในที่ต่ำ  เราจะไม่จงกรมในที่สูงกว่า

            ๔. เมื่อพระองค์ประทับในที่ต่ำ  เราจะไม่อยู่ในที่สูงกว่า

            ๕. ไม่ห่มผ้าคลุมบ่าทั้งสอง  ในที่ซึ่งทอดพระเนตรเห็น

            ๖. ไม่สวมรองเท้าในที่ซึ่งทอดพระเนตรเห็น

            ๗. ไม่กางร่มในที่ซึ่งทอดพระเนตรเห็น

            ๘. ไม่ถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะในที่ซึ่งทอดพระเนตรเห็น

                         สมัยเมื่อพระองค์ปรินิพพานแล้วก็แสดงความเคารพโดย

            ๑.ไปไหว้พระเจดีย์ตามโอกาส

            ๒.ไปไหว้สังเวชนียสถาน คือสถานที่ประสูติ ตรัสรู้ ปฐมเทศนา ปรินิพพาน ตามโอกาส

            ๓.เคารพพระพุทธรูป

            ๔. เคารพเขตพุทธาวาส คือเขตโบสถ์

            ๕.ไม่สวมรองเท้าในลานพระเจดีย์

            ๖.ไม่กางร่มในลานพระเจดีย์

            ๗.เมื่อเดินใกล้พระเจดีย์ ไม่เดินไปพูดไป

             ๘.เมื่อเข้าในเขตอุโบสถ ก็ถอดรองเท้า หุบร่ม  ไม่ทำอาการต่างๆ ซึ่งแสดงถึงความกระด้าง หยาบคาย

            ๙.ปฏิบัติตนตามพุทธโอวาทอยู่เป็นนิตย์

             ความเคารพในพระธรรม คือตระหนักถึงคุณประโยชน์อันมหาศาลของพระธรรมคำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วแสดงออกซึ่งความ เคารพ ดังนี้

            ๑.เมื่อมีประกาศแสดงธรรมก็ไปฟัง

            ๒.ฟังธรรมด้วยความสงบ สำรวม ตั้งใจ

            ๓.ไม่นั่งหลับ ไม่นั่งคุยกัน ไม่คิดฟุ้งซ่าน ขณะฟังธรรม

            ๔.ไม่วางหนังสือธรรมะไว้ในที่ต่ำ

            ๕.ไม่ดูหมิ่นพระธรรม

            ๖.บอกธรรม สอนธรรม ด้วยความระมัดระวังไม่ให้ผิดพลาด

             ความเคารพในพระสงฆ์ คือตระหนักถึงคุณความดีของพระสงฆ์ ผู้ประพฤติดีปฏิบัติชอบ เป็นผู้สืบอายุพระพุทธศาสนา แล้วแสดงออกซึ่งความเคารพ ดังนี้

            ๑.กราบไหว้ โดยกิริยาอาการเรียบร้อย

            ๒.นั่งเรียบร้อย ไม่นั่งกอดเข่าเจ่าจุก

            ๓.ไม่สวมรองเท้า ไม่กางร่ม ในที่ประชุมสงฆ์

            ๔.ไม่คะนองมือคะนองเท้าต่อหน้าท่าน

            ๕.เมื่อพระเถระไม่เชิญ ไม่แสดงธรรม

            ๖.เมื่อพระเถระไม่เชิญ ไม่อวดรู้แก้ปัญหาธรรม

            ๗.ไม่เดิน ยืน นั่ง เบียดพระเถระ

            ๘.แลดูท่านด้วยจิตเลื่อมใส

            ๙.ต้อนรับท่านด้วยไทยธรรม

            ความเคารพในการศึกษา คือตระหนักถึงคุณค่าของการศึกษาหาความรู้ แล้วแสดงออกซึ่งความเคารพ โดยตั้งใจศึกษาเล่าเรียนอย่างเต็มที่ทั้งทางโลกและทางธรรม จะศึกษาเรื่องใดก็ศึกษาให้ถึงแก่น ให้เข้าใจจริงๆ ไม่ทำเหยาะแหยะ  บำรุงการศึกษา  สนับสนุนการศึกษาทั้งทางโลกและทางธรรม

            ความเคารพในสมาธิ คือตระหนักถึงคุณประโยชน์อันมหาศาลของการทำสมาธิ  แล้วแสดงออกซึ่งความเคารพ  โดยตั้งใจฝึกสมาธิอย่างสม่ำเสมอให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ เพราะสมาธิเป็นสิ่งสำคัญยิ่งในการสร้างความดีทั้งหลาย เป็นการฝึกฝนตนเองอย่างยิ่งยวด ทำให้รู้และเข้าใจธรรมอย่างแท้จริง ดังจะเห็นได้จากในไตรสิกขา ซึ่งถือเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา ได้แก่ ศีล สมาธิ ปัญญา พระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ตรัสไว้ว่า “ศีลจะเป็นพื้นฐานทำให้เกิดสมาธิได้ง่าย แล้วสมาธิจะทำให้เกิดปัญญาซึ่งเป็นเครื่องพาเราให้บรรลุนิพพาน” จะเห็นว่าเรารักษาศีลก็เพื่อไม่ให้ไปทำความชั่ว ทำให้ใจไม่เศร้าหมอง เป็นสมาธิได้ง่าย และปัญญาก็เกิดจากสมาธิ สมาธิจึงเป็นหัวใจหลักในการทำความดีทุกชนิด  แม้การกำจัดกิเลสเข้าสู่นิพพาน

 

                 สมาธิ ภิกฺขเว ภาเวถ ฯ สมาหิโต ภิกฺขเว ภิกฺขุ ยถาภูตํ ปชานาติ ฯ

            ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงเจริญสมาธิเถิด ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ทีจิตตั้งมั่นแล้ว ย่อมรู้ชัดตามความเป็นจริง

สํ. ข. ๑๗/๒๗/๑๘

            มีบางคนพยายามจะเข้าถึงธรรม โดยการอ่านและฟังธรรม โดยไม่ยอมทำสมาธิ ซึ่งแม้เขาจะอ่านจะท่องธรรมะได้มากเพียงใด ก็ย่อมไม่มีโอกาสเข้าถึงธรรมได้เลย เพราะความรู้ธรรมจากการอ่านการท่องนั้น เป็นเพียงพื้นฐานความรู้เท่านั้น จะบังเกิดผลเป็นดวงปัญญารู้แจ้ง สว่างไสว ต่อเมื่อได้นำไปปฏิบัติด้วยการทำสมาธิอย่างยิ่งยวดแล้วเท่านั้น

            ยังมีบางคนกล่าวว่า การทำสมาธิเป็นส่วนเกินบ้าง เป็นการเสียเวลา              เปล่าบ้าง ถ้าพบใครที่กล่าวเช่นนี้ ก็พึงทราบทันทีว่าเขากล่าวตู่พุทธพจน์เสียแล้ว เป็นคนที่ใช้ไม่ได้ ไม่ควรคบ เพราะเขายกตัวของเขาเอง เขาผยองคิดว่าตนเก่งกว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสียแล้ว ใช้ไม่ได้

            ความเคารพในความไม่ประมาท คือตระหนักถึงคุณประโยชน์ของการมีสติกำกับตัวในการทำงานต่างๆ แล้วแสดงออกซึ่งความเคารพโดยหมั่นฝึกสติเพื่อให้ไม่ประมาท  ด้วยการเจริญสมาธิภาวนาอยู่เนืองๆ มิได้ขาด

            ความเคารพในการต้อนรับแขก คือตระหนักถึงคุณประโยชน์ของการต้อนรับแขก ว่าทำให้ไม่ก่อศัตรู ปกติคนเราจะให้ดีพร้อม ทำอะไรถูกใจคนทุกอย่างย่อมเป็นไปไม่ได้ อาจมีช่องว่างรอยโหว่ มีข้อบกพร่องบ้าง การต้อนรับแขกนี้จะเป็นการปิดช่องว่างรอยโหว่ในตัว ทำให้ได้มิตรเพิ่ม เราจึงต้องให้ความสำคัญแก่ผู้มาเยือน  ด้วยการต้อนรับ ๒ ประการ ดังนี้

            ๑.อามิสปฏิสันถาร ต้อนรับด้วยสิ่งของ เช่น อาหารน้ำดื่ม เลี้ยงดูอย่างดี  ไม่ให้ขาดตกบกพร่อง ฯลฯ

              ๒.ธรรมปฏิสันถาร ต้อนรับด้วยธรรม เช่น สนทนาธรรมกัน แนะนำธรรมะให้แก่กัน ฯลฯ

            นอกจากตัวเราจะต้องตระหนักถึงความสำคัญของการต้อนรับแขกแล้ว แม้คนในบ้านก็ต้องฝึกให้ต้อนรับแขกเป็นด้วย  ไม่เช่นนั้นจะพลาดไป  เช่น  ข้าราชการผู้ใหญ่บางคนตนเองต้อนรับแขกได้อย่างดีเยี่ยม  แต่ไม่ได้ฝึกคนในบ้านไว้ เวลาตนเองไม่อยู่มีแขกมาหาที่บ้าน เด็กและคนรับใช้พูดจากับเขาไม่ดี ทำให้เขาผูกใจเจ็บ คิดว่าเจ้าของบ้านยุยงส่งเสริม จึงหาทางโจมตีเอาจนต้องเสียผู้เสียคนมาก็มากต่อมากแล้ว  โดยที่ตนเองก็ไม่รู้สาเหตุว่าเขาเป็นศัตรูเพราะอะไร

                   สิ่งที่ควรเคารพทั้ง ๗ ประการนี้  เป็นแกนหลักของความเคารพทุกอย่าง เมื่อเราสามารถตรองจนตระหนักถึงคุณของสิ่งที่ควรเคารพอย่างยิ่ง ทั้ง  ๗ ประการนี้แล้ว ต่อไปเราก็จะสามารถตรองถึงความดีของสิ่งอื่นๆ ได้ชัดเจนและละเอียดลึกซึ้งยิ่งขึ้น  กลายเป็นผู้รู้จริงและทำได้จริงผู้หนึ่ง

            เมื่อฝึกตนเองให้มากด้วยความเคารพแล้ว ในไม่ช้านิสัยชอบจับผิดผู้อื่นก็จะค่อยๆ หายไป  เจอใครก็จะคอยมองแต่คุณความดีของเขา  ต่อไปความชั่วทั้งหลายเราก็จะนึกไม่ออก นึกออกแต่ความดีและวิธีทำความดีเท่านั้น ตัวเราก็จะกลายเป็นที่รวมแห่งความดีเหมือนทะเลเป็นที่รวมของน้ำฉะนั้น

 

การแสดงความเคารพ

            การแสดงความเคารพ คือการแสดงความตระหนักในคุณความดีของสิ่งที่เราเคารพด้วยใจจริง ให้ปรากฏชัดแก่บุคคลทั่วไป ด้วยการแสดงออกทางกาย วาจา มีอยู่หลายวิธี เช่น หลีกทางให้ ลุกขึ้นยืนต้อนรับ การให้ที่นั่งแก่ท่าน การประนมมือเวลาพูดกับท่าน การกราบ การไหว้ การขออนุญาตก่อนทำกิจต่างๆ  การวันทยาวุธ  การวันทยหัตถ์  การยิงสลุต  การลดธง ฯลฯ

            การแสดงความเคารพที่ถูกต้องตามหลักธรรม หมายถึง การแสดงออกเพราะตระหนักในคุณความดีของสิ่งที่เคารพด้วยใจจริง นักเรียนที่คำนับครูเพราะเกรงว่าถ้าไม่ทำจะถูกตัดคะแนนความประพฤติ  ทหารที่ทำวันทยหัตถ์ผู้บังคับบัญชาตามกฎระเบียบ หรือทำเพราะเกรงว่าถ้าไม่ทำจะถูกลงโทษ  อย่างนี้ไม่จัดว่าเป็นความเคารพ  เป็นแต่เพียงวินัยอย่างหนึ่งเท่านั้น

           

ข้อเตือนใจ

            ดังได้กล่าวแล้วว่า ความเคารพ คือการตระหนักในความดีของคนอื่นและสิ่งอื่น  ซึ่งผู้ที่จะตระหนักในความดีของคนอื่นและสิ่งอื่นได้  จะต้องมีคุณสมบัติอย่างหนึ่งเป็นทุนอยู่ในใจก่อนคือมีปัญญา  ความรู้จักผิดชอบชั่วดีพอสมควร

            และเมื่อเราแสดงความเคารพออกไปแล้ว  อีกฝ่ายหนึ่งก็จะรู้ทันทีว่า  “อ้อ !คนนี้เขามีคุณธรรมสูง มีความเคารพและมีแววปัญญา” เขาก็เกิดความตระหนักในความดีของเรา  และแสดงกิริยาเคารพต่อเราที่เรียกว่า รับเคารพ

            แต่ถ้าผู้ใด เมื่อมีคนมาแสดงความเคารพแล้วเฉยเสีย ไม่แสดงความเคารพตอบ ผู้นั้นจัดเป็นคนน่าตำหนิอย่างยิ่ง เพราะการเฉยเสียนั้นเท่ากับบอกให้ชาวโลกรู้ว่า  “ตัวข้านี้ แสนจะโง่เง่าหามีปัญญาพอที่จะเห็นคุณความดีในตัวท่านไม่” เท่านั้นเอง

            คนที่ไม่อยากแสดงความเคารพคนอื่น หรือเมินเฉยต่อการเคารพตอบ มักเป็นเพราะเข้าใจว่าการแสดงกิริยาเคารพออกมานั้น  เป็นการลดสง่าราศรีของตนแล้วเอาไปเพิ่มให้แก่คนอื่น เลยเกิดความเสียดายเกรงว่าตัวเองจะไม่ใหญ่โต หรือเกรงว่าคนอื่นจะไม่รู้ว่าตัวเองใหญ่โต  นั้นเป็นการคิดผิดอย่างยิ่ง

 

อานิสงส์การมีความเคารพ

            ๑.        ทำให้เป็นคนน่ารัก น่าเอ็นดู น่าเกรงใจ

            ๒.        ทำให้ได้รับความสุขกาย สบายใจ

            ๓.        ทำให้ไม่มีความเดือดร้อน ไม่มีเวร ไม่มีภัย

            ๔.        ทำให้สามารถถ่ายทอดความดีจากผู้อื่นได้ง่าย

            ๕.        ทำให้ผู้อื่นอยากช่วยเหลือเพิ่มเติมคุณความดีให้

            ๖.        ทำให้สติดีขึ้น เป็นคนไม่ประมาท

            ๗.        ทำให้เป็นคนมีปัญญาละเอียดอ่อน รู้จริง และทำได้จริง

            ๘.        ทำให้เกิดในตระกูลสูงไปทุกภพทุกชาติ

            ๙.        ทำให้บรรลุมรรคผลนิพพานโดยง่าย

                                                ฯลฯ

 

            “ภิกษุมีพระศาสดาเป็นที่เคารพ ๑  มีพระธรรมเป็นที่เคารพ ๑  มีความเคารพในพระสงฆ์อย่างแรงกล้า ๑  มีความเคารพในสมาธิ ๑  มีความเพียรเคารพยิ่งในไตรสิกขา ๑  มีความเคารพในความไม่ประมาท ๑  มีความเคารพในปฏิสันถาร ๑  เป็นผู้ไม่ควรเพื่อจะเสื่อม ชื่อว่าอยู่ในที่ใกล้นิพพานทีเดียว”

องฺ สตฺตก. ๒๓/๒๙/๒๙-๓๐

 

หนังสือมงคลชีวิต 38 ประการ ฉบับทางก้าวหน้า

 โดย พระมหาสมชาย ฐานวุฑโฒ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย