วันพุธที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2566

มงคล ที่ 14 ทำงานไม่คั่งค้าง

 มงคล ที่ ๑๔  ทำงานไม่คั่งค้าง

ดินที่พอกหางหมู มีแต่จะเพิ่มมากขึ้นๆ

และถ่วงหมูให้กินอยู่หลับนอนไม่เป็นสุขยิ่งๆ ขึ้นไปฉันใด

การงานที่ปล่อยทิ้งไว้คั่งค้าง ก็มีแต่จะยิ่งเพิ่มมากขึ้น

และถ่วงความเจริญก้าวหน้าทั้งแก่ตนเอง และหมู่คณะฉันนั้น

“ค่าของคนอยู่ที่ผลของงาน

หากปล่อยการงานให้คั่งค้าง

ก็เท่ากับกำลังทำลายค่าของตนเอง”

****************

เหตุที่ทำให้งานคั่งค้าง

            ๑.        ทำงานไม่ถูกกาล ยังไม่ถึงเวลาทำก็ใจร้อนด่วนไปทำ แต่พอถึงเวลาควรทำกลับไม่ทำ เช่น ตอนแดดออกมัวไปถูบ้าน พอฝนตกกลับไปซักเสื้อผ้าตากเท่าไหร่ก็ไม่แห้ง หรือตอนเด็กไม่ยอมเรียนหนังสือ เที่ยวสำมะเลเทเมา พอแก่เฒ่าจะมาเรียนก็เรียนไม่ไหวแล้ว

            ๒.        ทำงานไม่ถูกวิธี ทำผิดขั้นตอน ผิดลำดับ เช่น จะทำความสะอาดบ้าน  ก็ไปกวาดพื้นก่อนแล้วกวาดเพดานทีหลัง  ฝุ่นผงต่างๆ ก็ตกลงมาต้อง กวาดพื้นใหม่อีก เป็นต้น

            ๓.        ไม่ยอมทำงาน  ชอบผัดวันประกันพรุ่ง  หรือหาเหตุต่างๆ นานามาอ้าง เช่น รอฤกษ์รอยาม พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า ถ้าเราจะทำความดีเมื่อไร ฤกษ์ก็ดีเมื่อนั้น ไม่ต้องรอ ทำไปได้เลย ประโยชน์ย่อมเป็นฤกษ์ของประโยชน์เอง

 “ประโยชน์ย่อมล่วงเลยคนโง่ ผู้มัวรอฤกษ์ยามอยู่

ประโยชน์เป็นฤกษ์ของประโยชน์เอง ดวงดาวจักทำอะไรได้”

***************************

วิธีทำงานให้เสร็จ

            วิธีทำงานที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้คือ อิทธิบาท ๔ ได้แก่

            ๑.        ฉันทะ  คือ ความรักงาน หรือ ความเต็มใจ

            ๒.        วิริยะ    คือ ความพากเพียร หรือ ความแข็งใจทำ

            ๓.        จิตตะ   คือ ความเอาใจใส่  หรือ ความตั้งใจทำ

            ๔.        วิมังสา คือ การพินิจพิเคราะห์ หรือ ความเข้าใจทำ

         ฉันทะ คือความรักงาน จะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อเราเล็งเห็นผลของงานว่า ถ้าทำงานนี้แล้วจะได้อะไร เช่น เรียนหนังสือแล้วจะได้วิชาความรู้ไปประกอบอาชีพเมื่อรู้อย่างนี้แล้ว เราก็จะเกิดความเต็มใจทำ

          วิริยะ  คือความพากเพียร  ความไม่ท้อถอย  เป็นคุณธรรมทางใจ เรียกความรู้สึกนี้ว่า ความกล้า  อยากจะรู้ว่ากล้าอย่างไร  ต้องดูทางตรงข้าม เสียก่อน คือทางความเกียจคร้าน คนเกียจคร้านทุกคนและทุกครั้ง คือคนขลาด คนกลัว กลัวหนาว กลัวร้อน กลัวแดด กลัวฝน จะทำงานแต่ละครั้งเป็นต้องอ้างว่าหนาวจะตาย ร้อนจะตาย หิวจะตาย อิ่มจะตาย เหนื่อยจะตาย ง่วงจะตาย  คนเกียจคร้านทุกคนตายวันละไม่รู้กี่ร้อยครั้ง

 “ฐานะ ๕ อย่างคือ ความชอบนอน ความชอบคุย ความไม่หมั่น ความเกียจคร้าน และความโกธรง่าย พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า เป็นทางแห่งความเสื่อม เพราะคนถึงพร้อมด้วยฐานะ ๕ อย่างนั้น เป็นคฤหัสถ์ก็ไม่ถึงความเจริญของคฤหัสถ์ เป็นบรรพชิตก็ไม่ถึงความเจิญของบรรพชิตย่อมเสียหายถ่ายเดียว ย่อมเสื่อมถ่ายเดียวแน่แท้”

        จิตตะ คือความเอาใจใส่ หรือ ความตั้งใจทำ คนมีจิตตะเป็นคนไม่ปล่อยปละละเลยกับงานของตน  คอยตรวจตรางานอยู่เสมอ

                “ควรตรวจตรางานของตัวเอง ทั้งที่ทำแล้วและยังไม่ได้ทำ”

         วิมังสา คือความเข้าใจทำ สุดยอดของวิธีทำงานให้สำเร็จอยู่ในอิทธิบาทข้อสุดท้ายนี้  วิมังสา แปลว่า การพินิจพิเคราะห์ หมายความว่า ทำงานด้วยปัญญา      ด้วยสมองคิด ไม่ใช่สักแต่ว่าทำ คนเราแม้จะรักงานแค่ไหน บากบั่นปานใด หรือเอาใจจดจ่ออยู่ตลอดเวลา แต่ถ้าขาดการใช้ปัญญาพิจารณางานด้วยแล้ว ผลที่สุดงานก็คั่งค้างจนได้ เพราะแม้ว่าขั้นตอนการทำงานจะสำเร็จไปแล้วแต่ผลงานก็ไม่เรียบร้อย  ต้องทำกันใหม่ร่ำไป

คนที่ทำงานด้วยปัญญานั้นจะต้อง

            -  ทำให้ถูกกาล ไม่ทำก่อนหรือหลังเวลาอันควร

            -   ทำให้ถูกลักษณะของงาน

            สรุปวิธีการทำงานให้สำเร็จนั้น  มีลักษณะล้วนขึ้นอยู่กับใจทั้งสิ้น คือเต็มใจทำ แข็งใจทำ ตั้งใจทำ และเข้าใจทำ  วิธีการฝึกฝนใจที่ดีที่สุด  ก็คือ การให้ทาน การรักษาศีล และการทำสมาธิเพื่อให้ใจผ่องใส ทำให้เกิด ปัญญาพิจารณาเห็นผลของงานได้ รู้และเข้าใจวิธีการทำงาน มีกำลังใจ และมีใจจดจ่ออยู่กับงาน ไม่วอกแวก

******************************

อุปสรรคในการทำงานให้เสร็จ

            อุปสรรคใหญ่ในการทำงานให้เสร็จก็คือ อบายมุข ๖ ได้แก่

            ๑. ดื่มน้ำเมา

            ๒. เที่ยวกลางคืน

            ๓. ดูการละเล่นเป็นนิจ

            ๔. เล่นการพนัน

            ๕. คบคนชั่วเป็นมิตร

            ๖. เกียจคร้านในการทำงาน

            อบาย แปลว่า ความเสื่อม ความฉิบหาย  มุข แปลว่า ปาก, หน้า

            อบายมุข จึงแปลว่า ปากทางแห่งความเสื่อม เนื่องจากมันเป็น ปากทาง  ส่วนตัวความเสื่อมจริงๆ นั้นอยู่ ปลายทาง เมื่อมองเพียงผิวเผิน เราจึงมักยังมองไม่เห็นความเสื่อม  แต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าและท่านผู้รู้ทั้งหลายมองเห็น

******************************

            คุณสมบัติของนายจ้างที่ดี

            ๑.        จัดงานให้ลูกจ้างทำตามความเหมาะสม

            ๒.        ให้ค่าจ้างรางวัลสมควรแก่งานและความสามารถ

            ๓.        ให้สวัสดิการที่ดี

            ๔.        มีอะไรได้พิเศษมา ก็แบ่งปันให้

            ๕.        ให้มีวันหยุดพักผ่อนตามสมควร

            คุณสมบัติของลูกจ้างที่ดี

            ๑.        เริ่มทำงานก่อน

            ๒.        เลิกงานทีหลัง

            ๓.        เอาแต่ของที่นายให้

            ๔.        ทำงานให้ดียิ่งขึ้น

            ๕.        นำความดีของนายไปสรรเสริญ

 

อานิสงส์การทำงานไม่คั่งค้าง

            ๑.        ทำให้ฐานะของตน ครอบครัว ประเทศชาติดีขึ้น

            ๒.        ทำให้ได้รับความสุข

            ๓.        ทำให้พึ่งตัวเองได้

            ๔.        ทำให้เป็นที่พึ่งของคนทั้งหลายได้

            ๕.        ทำให้สามารถสร้างบุญกุศลอื่นๆ ได้ง่าย

            ๖.        ทำให้เป็นผู้ไม่ประมาท

            ๗.        ทำให้ป้องกันภัยในอบายภูมิได้

            ๘.        ทำให้มีสุคติเป็นที่ไปเบื้องหน้า

            ๙.        ทำให้เป็นนิสัยติดตัวไปข้ามภพข้ามชาติ

            ๑๐.      ทำให้ได้รับการยกย่องสรรเสริญจากคนทั่วไป

 

            “บุคคลใดไม่คำนึงถึงหนาวร้อน อดทนให้เหมือนหญ้า กระทำกิจที่ควรทำด้วยเรี่ยวแรงของลูกผู้ชาย บุคคลนั้นย่อมไม่เสื่อมจากสุข”