วันพุธที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2566

มงคล ที่ 13 สงเคราะห์ภรรยา ( สามี )

         มงคล ที่ ๑๓  สงเคราะห์ภรรยา ( สามี )

                    ***********

ในการเคี้ยวอาหาร ถ้าลิ้นกับฟันทำงานไม่ประสานกัน

ก็มีหวังขบลิ้นตนเองต้องเจ็บปวดจนน้ำตาร่วง

เช่นกัน ในชีวิตการครองเรือน

ถ้าสามีภรรยาไม่รู้จักสงเคราะห์กันและกัน ไม่มีความเข้าใจกัน

นอกจากจะไม่มีความก้าวหน้าในชีวิตแล้ว

ทั้ง สอง ฝ่ายก็มีหวังช้ำใจจนน้ำตาร่วงได้เหมือนกัน

***********

ความหมายของสามี - ภรรยา

            สามี      แปลว่า ผู้เลี้ยง; ผัว

            ภรรยา   แปลว่า ผู้ควรเลี้ยง;เมีย

            คำทั้งสองนี้ เป็นคำที่แฝงความหมายอยู่ในตัว และเป็นคำคู่กัน ผู้ชายที่ได้ชื่อว่าสามีก็เพราะเลี้ยงดูภรรยา ผู้หญิงที่จะได้ชื่อว่าภรรยาก็เพราะทำตัวเป็นคนควรเลี้ยง

***********************

ประเภทของภรรยา

            ภรรยาทั้งหลายในโลกนี้ แบ่งได้เป็น ๗ ประเภท คือ

            ๑.        วธกาภริยา ภรรยาเสมอด้วยเพชฌฆาต คือภรรยาที่มีใจคิดล้างผลาญชีวิตสามี  พยายามฆ่าสามี  ยินดีในชายอื่น ตบตี แช่งด่าสามี

            ๒.        โจรีภริยา ภรรยาเสมอด้วยโจร คือภรรยาที่ชอบล้างผลาญทรัพย์สามี ใช้ทรัพย์ไม่เป็นบ้าง ยักยอกทรัพย์เพื่อความสุขส่วนตัวบ้าง สร้างหนี้สิน ให้ตามใช้บ้าง

            ๓.        อัยยาภริยา ภรรยาเสมอด้วยนาย คือภรรยาที่ชอบล้างผลาญศักดิ์-ศรีสามี ไม่สนใจช่วยการงาน เกียจคร้าน กินมาก ปากร้าย กล่าวคำหยาบ ชอบข่มขี่สามีซึ่งขยันขันแข็ง เหมือนเจ้านายข่มขี้ข้า ภูมิใจที่ข่มสามีได้

            ๔.        มาตาภริยา ภรรยาเสมอด้วยแม่ คือภรรยาที่มีความรัก เมตตาสามีไม่มีที่สิ้นสุด เหมือนมารดารักบุตร เช่น สามีจะตกต่ำหมดบุญวาสนา จะป่วยจะพิการตลอดชีวิตก็ไม่ทอดทิ้ง ไม่พูด ไม่ทำให้สะเทือนใจ แม้ตายจากไปตั้งแต่ตนยังสาวก็ไม่ยอมมีสามีใหม่

            ๕.        ภคินีภริยา ภรรยาเสมอด้วยน้องสาว คือภรรยาที่เคารพสามี มีความรักยั่งยืน แต่มีขัดใจกันบ้าง ทั้งซน ทั้งงอน ทั้งขี้ยั่ว ทั้งขี้แย ต้องทั้งขู่ทั้งปลอบ ประเดี๋ยวจะเที่ยว ประเดี๋ยวจะกิน จะแต่งตัว แต่ก็ซื่อสัตย์ต่อสามี

            ๖.        สขีภริยา ภรรยาเสมอด้วยเพื่อน คือภรรยาที่มีรสนิยม มีความชอบเหมือนสามี ถูกคอกัน เป็นคนมีศีลธรรม มีความประพฤติดี แต่อาจมีความทะนงตัวโดยถือว่าเสมอกัน  หากฝ่ายตรงข้ามขาดเหตุผลก็ไม่ยอมกันก็เป็นได้

         ๗.        ทาสีภริยา ภรรยาเสมอด้วยคนใช้ คือภรรยาที่ทำตัวเหมือนคนใช้ ถึงสามีจะเฆี่ยนตี ดุด่า ขู่

ตะคอก ก็ไม่คิดพิโรธโกรธตอบสามี อดทนได้ อยู่ในอำนาจสามี

            จะดูว่าใครเป็นสามี-ภรรยาชนิดไหน ต้องดูหลังจากแต่งงานแล้วซัก ระยะหนึ่งจึงจะชัด การแต่งงานมีอยู่ ๒ ระยะ คือ

            -           ระยะแต่ง คือก่อนเป็นสามีภรรยากัน ต่างคนต่างแต่ง ทั้งแต่งตัว แต่งท่าทางอวดคุณสมบัติให้อีกฝ่ายหนึ่งเห็น

            -           ระยะงาน คือหลังจากเป็นสามีภรรยากันแล้ว ต่างคนต่างต้องทำงานตามหน้าที่ ใครมีข้อดีข้อเสีย มีความรู้ความสามารถ มีความประพฤติอย่างไรก็จะปรากฏชัดออกมา

คุณสมบัติขอคู่สร้างคู่สม

            พื้นฐานอันมั่นคงที่จะทำให้สามีภรรยาครองชีวิตกันยืนยาว มีความสุข คือคู่สามีภรรยาต้องมีสมชีวิธรรม ได้แก่

           ๑.        สมสัทธา มีศรัทธาเสมอกัน ได้แก่ มีหลักการ มีความเชื่อมั่นในพระพุทธศาสนา  มีเป้าหมายชีวิตเหมือนกัน

            ๒.        สมสีลา มีศีลเสมอกัน ได้แก่ ความประพฤติศีลธรรมจรรยา กิริยามารยาทอบรมมาดีเสมอกัน

            ๓.        สมจาคา มีจาคะเสมอกัน ได้แก่ มีนิสัยเสียสละชอบช่วยเหลือ ไม่เห็นแก่ตัว ใจกว้างเสมอกัน

           ๔.        สมปัญญา มีปัญญาเสมอกัน ได้แก่ มีเหตุผล มีความคิดสร้างสรรค์ ไม่ดื้อด้านดันทุรัง เข้าใจกัน เห็นอกเห็นใจกัน พูดกันรู้เรื่อง

 

วิธีทำให้ความรักยั่งยืน

            การเป็นสามีภรรยากัน  เป็นเรื่องที่จะว่ายากก็เหมือนง่าย  แต่ครั้นจะว่าง่ายก็เหมือนยาก เพราะเพียงแต่เราตั้งคำถามว่า ทำอย่างไรสามีภรรยาจึงจะมีความรักยั่งยืนอยู่กินกันราบรื่นเพียงประเด็นเดียว แล้วลองเที่ยวหาคำตอบดู          เถอะ ถามสิบคนก็ตอบสิบอย่าง บ้างก็ว่าเกี่ยวกับดวงชะตาคู่ธาตุ ต้องวางฤกษ์ วางลัคน์ให้เหมาะๆ บ้างก็ว่าเป็นเรื่องของพรหมลิขิต ที่หัวสมัยใหม่หน่อยก็ว่า สำคัญที่แหวนหมั้นขันหมากเงินทุนให้มากๆ เข้าไว้  ความสุขในชีวิตสมรสจะ มีเอง

            แต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสเรื่องมงคลสมรสไว้สั้นๆ เพียงคำเดียวว่า สังคหะ แปลว่า การสงเคราะห์กัน และให้ปฏิบัติตามหลักสังคหวัตถุ ๔ เพื่อเป็นการยึดเหนี่ยวน้ำใจกัน ดังนี้

            ๑.        ทาน การให้ปันแก่กัน คนเราถ้ารักที่จะอยู่ด้วยกันต้องปันกันกิน ปันกันใช้ หามาได้แล้วควรรวมกันไว้เป็นกองกลางแล้วจึงแบ่งกันใช้ หากไม่เอามารวมกัน อาจเกิดการระแวงกันได้ ที่ใดที่ปราศจากการให้ที่นั่นย่อมแห้งแล้งเหมือนทะเลทราย  การปันกันนี้รวมทั้งการปันทุกข์กันในครอบครัวด้วย  เมื่อฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดมีความทุกข์  มีปัญหา  ก็ควรนำมาปรึกษากัน  อีกฝ่ายก็ต้องรับรู้จักรับฟังและปลุกปลอบให้กำลังใจ

            ๒.        ปิยวาจา พูดกันด้วยวาจาไพเราะ แม้การตักเตือนกันก็ต้องระมัด ระวังคำพูด  ถ้าถือเป็นกันเองมากเกินไป  อาจจะเกิดทิฏฐิ  ทำให้ครอบครัวไม่สงบสุข โดยถือหลักว่า ก่อนแต่งงานเคยพูดไพเราะอย่างไร หลังแต่งงานก็พูด ให้เพราะ อย่างนั้น

            ๓.        อัตถจริยา ฝึกฝนตนให้เป็นประโยชน์ คือมีความรู้ความสามารถ  แล้วนำความรู้ความสามารถที่มีอยู่นั้นมาช่วยเหลือกัน  ประพฤติตนเป็นประโยชน์ต่อกันในทุกด้าน  เมื่อรู้ว่าอะไรดีหรือไม่ดี  ควรหรือไม่ควร  ก็นำมาเล่าสู่กันฟัง  พยายามศึกษาหาความรู้ทางธรรม  เอาใจมาเกาะกับธรรมให้มากสามีภรรยานั้นเมื่อทะเลาะกันมักจะโยนความผิดให้อีกฝ่ายหนึ่ง ซึ่งแท้จริงแล้วย่อมมีความผิดด้วยกันทั้งคู่  อย่างน้อยก็ผิดที่ไม่หาวิธีที่เหมาะสมแนะนำตักเตือนกัน  ปล่อยให้อีกฝ่ายหนึ่งทำความผิด

            ๔.        สมานัตตตา วางตัวให้เหมาะสมกับที่ตัวเป็น เป็นพ่อบ้านก็ทำตัวให้สมกับเป็นพ่อบ้าน เป็นแม่บ้านก็ทำตัวให้สมกับเป็นแม่บ้าน ต่างก็วางตัวให้               เหมาะสมกับหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายทั้งในบ้านและนอกบ้าน  ซึ่งข้อนี้จะประพฤติ ปฏิบัติให้ดี ต้องฝึกสมาธิให้ใจผ่องใสเป็นปกติ เพราะคนที่ใจผ่องใสจะรู้ว่าในภาวะเช่นนั้น ควรจะวางตนอย่างไร  ไม่ระเริงโลกจนวางตนไม่เหมาะสม

            โดยสรุป คือปฏิบัติตนตามหลักทาน การให้ปันสิ่งของ รักษาศีล  เพื่อให้มีคำพูดที่ไพเราะและเพื่ออุดข้อบกพร่องของตน  จะได้เป็นคนมีประโยชน์  เจริญภาวนา คือการฟังธรรมและทำสมาธิ  เพื่อให้ใจผ่องใสเกิดปัญญา  จะได้วางตัวได้เหมาะสมกับที่ตัวเป็น

 

หน้าที่ของสามีต่อภรรยา

            ๑.        ยกย่องให้เกียรติ  คือยกย่องว่าเป็นภรรยา ไม่ปิดๆ บังๆ หากทำดี ก็ชมเชยด้วยใจจริง หากทำผิดก็เตือน แต่ไม่ตำหนิต่อหน้าสาธารณชนหรือคนในบ้าน เพราะจะเสียอำนาจการปกครอง สิ่งใดเป็นเรื่องส่วนตัว เช่น การเลี้ยงเพื่อน  พบปะญาติมิตร  ควรให้อิสระตามสมควร

            ๒.        อย่าดูหมิ่น ไม่เหยียบหยามว่าต่ำกว่าตน ไม่ดูถูกเรื่องตระกูล ทรัพย์ ความรู้ การแสดงความคิดเห็น ไม่กระทำเรื่องที่เกี่ยวกับครอบครัวโดยไม่ปรึกษา หารือ  และห้ามทุบตีด่าทอเด็ดขาด

            ๓.        ไม่นอกใจ ไม่ไปยุ่งเกี่ยวกับหญิงอื่นในฐานะเป็นภรรยาเหมือนกัน เพราะเป็นการดูหมิ่นความเป็นหญิงของภรรยา ให้เอาใจเขามาใส่ใจเรา ภรรยาทุกคนจะปลื้มใจที่สุด  ถ้าสามีรักและซื่อตรงต่อตนเพียงคนเดียว

            ๔.        มอบความเป็นใหญ่ให้ คือมอบให้เป็นผู้จัดการภาระทางบ้าน ไม่เข้าไปก้าวก่ายในเรื่องการครัว การปกครองภายใน นอกจากเรื่องใหญ่ๆ ซึ่งภรรยาไม่อาจแก้ปัญหาได้

            ๕.        ให้เครื่องแต่งตัว ขึ้นชื่อว่าผู้หญิงล้วนชอบแต่งตัว สนใจเรื่องสวยๆ งามๆ   ถ้าได้เสื้อผ้าเครื่องแต่งตัวสวยๆ งามๆ แล้วชื่นใจ   ถึงจะโกรธเท่าโกรธ  ถ้าได้เครื่องแต่งตัวถูกใจ ประเดี๋ยวก็หาย  สามีก็ต้องตามใจบ้าง

 

หน้าที่ของภรรยาต่อสามี

            ๑.        จัดการงานดี จัดบ้านให้สบายน่าอยู่ จัดอาหารให้ถูกปากและทันตามความต้องการ  จัดเสื้อผ้าเครื่องใช้ให้สะอาดอยู่เสมอดูแลลูกเต้าให้ความรักอบอุ่น ให้ลูกเติบโตขึ้นมาด้วยสุภาพแข็งแรงและเป็นคนดี

            ๒.        สงเคราะห์ญาติข้างสามี ด้วยการเอื้อเฟื้อ กล่าววาจาไพเราะ ให้ความช่วยเหลือตามฐานะที่จะทำได้

            ๓.        ไม่นอกใจ จงรักภักดี ซื่อสัตย์ต่อสามีเพียงผู้เดียว

            ๔.        รักษาทรัพย์ให้ดี ไม่ฟุ่มเฟือย แต่ก็ไม่ตระหนี่ รู้จักใช้ทรัพย์ให้เป็น

            ๕.        ขยันทำงาน  ขยันขันแข็งทำงานบ้าน ไม่เอาแต่กิน นอน เที่ยว หรือเล่นการพนัน

            ประเพณีแต่งงานของไทยเรา  เวลาเจ้าบ่าวเจ้าสาวรับน้ำพุทธมนต์  มักจะสวมมงคลแฝดไว้บนศีรษะดูคล้ายๆ กับยึดคนสองคนไว้ด้วยกัน ความมุ่งหมายนั้นคือ จะยึดคนทั้งสองไว้ไม่ให้แยกจากกัน นั่นเป็นการยึดผูกเพียงภายนอกผิวเผิน  ซึ่งช่วยอะไรไม่ได้จริง

            พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสอนให้ยึดเหมือนกัน แต่แทนที่จะสอนให้ยึดด้วยด้าย   ทรงสอนให้ยึดเหนียวน้ำใจกันไว้ด้วยคุณธรรมที่เรียกว่า สังคหะ แทนการสงเคราะห์ ที่ทั้งสองฝ่ายปฏิบัติต่อกัน  จะเป็นเงื่อนใจ ๒ วง  วงหนึ่งคล้องไว้ในใจสามี  อีกวงหนึ่งคล้องไว้ในใจภรรยา ถ้าทำได้ตามหลักธรรมนี้แล้ว ต่อให้มนุษย์หน้าไหนก็มาพรากไปจากกันไม่ได้ แม้แต่ความตายก็พรากได้เพียงร่างกาย ส่วนดวงใจนั้นยังคงคล้องกันอยู่ชั่วนิรันดร์

 

ข้อเตือนใจ

            มีข้อเตือนใจอยู่ว่า แม้บางคนตั้งใจแล้วว่าจะต้องยึดใจเอาไว้ ครั้นปฏิบัติจริงก็ไม่วายเขว พอสามีทำท่าจะหลงใหลนอกลู่นอกทาง กลับวิ่งไปหาหมอเสน่ห์ยาแฝด  เสียเงินเสียทอง  เสียเวลา  แต่แล้วก็เหลว  เพราะทิ้งบ้านทิ้งช่องไปเฝ้าหมอเสน่ห์ ข้าวปลาไม่รู้จักหุงหา ปล่อยให้บ้านรกเป็นเล้าไก่รังกา แทนที่จะคอยเอาใจสามี กลับไปกราบเท้าเอาใจหมอเสน่ห์เพื่อจะมาแข็งข้อเอากับสามี สถานการณ์ก็ยิ่งเลวร้ายลงทุกที ที่ถูกควรปักใจให้มั่นในศีลในทาน ในการทำความดี  ปฏิบัติหน้าที่ของเราไม่ยอมให้บกพร่อง  แล้วทุกอย่างจะดีขึ้นเอง

 

โอวาทวันแต่งงาน

            เป็นโอวาสปริศนาที่ธนัญชัยเศรษฐี ผู้เป็นบิดาของนางวิสาขา ให้แก่นางในวันแต่งงาน  มีทั้งหมด 10 ข้อดังนี้

            ๑.        ไฟในอย่านำออก หมายถึง ไม่นำเรื่องราวปัญหา ความร้อนใจต่างๆ ในครอบครัวไปเปิดเผยแก่คนทั่วไปภายนอก

            ๒.        ไฟนอกอย่านำเข้า หมายถึง ไม่นำเรื่องราวปัญหาต่างๆ ภายนอกที่ร้อนใจเข้ามาในครอบครัว

            ๓.        ให้แก่ผู้ให้ หมายถึง ผู้ใดที่เราให้ความช่วยเหลือ ให้หยิบยืมสิ่งของ   แล้ว เมื่อถึงกำหนดก็นำมาส่งคืนตามเวลา เมื่อเรามีความจำเป็นต้องขอความช่วยเหลือ หากไม่เกินความสามารถของเขา เขาก็ยินดีช่วยเหลืออย่างเต็มใจ บุคคลเช่นนี้ภายหลังถ้ามาขอความช่วยเหลือเราอีก ก็ให้ช่วย

            ๔.        ไม่ให้แก่ผู้ที่ไม่ให้ หมายถึง ผู้ใดที่เราให้ความช่วยเหลือให้หยิบยืมสิ่งของแล้ว ไม่ส่งคืนตามกำหนดเวลา เมื่อเรามีเรื่องขอความช่วยเหลือ แม้ไม่เกินความสามารถของเขา และเป็นเรื่องถูกศีลธรรมเขาก็ไม่ยอมช่วย คนอย่างนี้ ภายหลังถ้ามาขอความช่วยเหลือเราอีก อย่าช่วย

            ๕.        ให้ไม่ให้ก็ให้ หมายถึง ถ้าญาติพี่น้องเราที่ตกระกำลำบากอยู่มา ขอความช่วยเหลือ แม้บางครั้งไม่ส่งของที่หยิบยืมตามเวลา ภายหลังเขามาขอความช่วยเหลืออีกก็ให้ช่วย  เพราะถึงอย่างไรก็เป็นญาติพี่น้องกัน

            ๖.        กินให้เป็นสุข หมายถึง ให้จัดการเรื่องอาหารการกินในครอบครัวให้ดี ปรนนิบัติพ่อแม่ของสามีในเรื่องอาหารอย่าให้บกพร่อง ถ้าทำได้อย่างนี้ ตัวเราเองเวลากินก็จะกินอย่างมีความสุข ไม่ต้องกังวล

            ๗.        นั่งให้เป็นสุข หมายถึง รู้จักที่สูงที่ต่ำ เวลานั่งก็ไม่นั่งสูงกว่าพ่อแม่ ของสามี จะได้นั่งอย่างมีความสุข ไม่ต้องกังวล ไม่ถูกตำหนิ

            ๘.        นอนให้เป็นสุข หมายถึง ดูแลเรื่องที่หลับที่นอนให้ดี และยึดหลักตื่นก่อนนอนทีหลัง ก่อนนอนก็จัดการธุระการงานให้เรียบร้อยเสียก่อน จะได้นอนอย่างมีความสุข

            ๙.        บูชาไฟ หมายถึง เวลาที่พ่อแม่ของสามีหรือตัวสามีเองกำลังโกรธ เปรียบเสมือนไฟกำลังลุก ถ้าดุด่าอะไรเรา ก็ให้นิ่งเสียอย่าไปต่อล้อต่อเถียงด้วย เพราะในช่วงเวลานั้น  ถ้าเราไปเถียงเข้าเรื่องราวก็จะยิ่งลุกลามใหญ่โต  ไม่มี            ประโยชน์ คอยหาโอกาสเมื่อท่านหายโกรธ แล้วจึงค่อยชี้แจงเหตุผลให้ฟังอย่าง     นุ่มนวลจะดีกว่า

            ๑๐.      บูชาเทวดา หมายถึง เวลาที่พ่อแม่ของสามี หรือตัวสามีเองทำความดีก็พยายามส่งเสริมสนับสนุน  พูดให้กำลังใจให้ทำความดีให้ยิ่งๆ ขึ้นไป

 

อานิสงส์การสงเคราะห์ภรรยา ( สามี )

            ๑.        ทำให้ความรักยืนยง

            ๒.        ทำให้สมานสามัคคีกัน

            ๓.        ทำให้ครอบครัวมีความสงบสุข

            ๔.        ทำให้ได้รับการยกย่องสรรเสริญ

            ๕.        เป็นแบบอย่างที่ดีแก่อนุชนรุ่นหลัง

                                                    ฯลฯ

           

“ภรรยานั้นอยู่ใกล้ชิด หากไม่ผูกมิตร ชีวิตจะสั้น

ภรรยานั้นอยู่ร่วมกัน หากคิดสร้างสรรค์ บ้านนั้นเจริญ”

มงคล ที่ 12 เลี้ยงดูบุตร

                                 มงคล ที่ ๑๒ เลี้ยงดูบุตร

ต้นไม้ถ้าลูกมันรสไม่ดี ก็มีแต่คนจะโค่นต้นทิ้ง

ไม่มีใครคิดจะบำรุงรักษาไว้ ตรงข้ามถ้าลูกมันรสดี ทั้งหวานทั้งมัน

เจ้าของก็อยากใส่ปุ๋ยรดน้ำพรวนดิน ทะนุถนอมให้คงต้นอยู่นานๆ

ต้นไม้จะอายุยืนได้รับการบำรุงรักษาดีเพียงไร ขึ้นอยู่กับลูกของมัน

คนเราก็เช่นกัน ถ้าลูกทำดี คนทั้งหลายก็ชมมาถึงพ่อแม่ว่าเลี้ยงลูกดี

ความสุขกายสบายใจก็ติดตามมาเพราะลูก

บุญกุศลความดีก็ไหลมาเพราะลูก แต่ถ้าลูกทำชั่วช้าเลวทราม

คนทั้งหลายก็แช่งด่ามาถึงพ่อแม่ด้วยเหมือนกัน

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงชี้ว่า สิริมงคลของคนที่เป็นพ่อแม่อยู่ที่ลูก

และในทางตรงข้าม ถ้าไม่ป้องกันแก้ไขให้ดีแล้ว

อัปมงคลก็จะมาจากลูกนั่นเหมือนกัน

*******************

ทำไมจึงต้องเลี้ยงดูบุตร ?

           สิ่งที่อยากได้กันทุกคน คือความปีติ ความปลื้มใจไว้หล่อเลี้ยงใจให้สดชื่น  ความปลื้มปีติจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อได้เห็นผลแห่งความดี  หรือผลงานดีๆ ยิ่งผลงานดีมากเท่าไร  ยิ่งชื่นใจมากเท่านั้น  แล้วอายุจะยืนยาว  สุขภาพจะแข็งแรง

            สุดยอดผลงานของนักปฏิบัติธรรม คือการกำจัดกิเลสในตัวให้หมด

            สุดยอดผลงานของชาวโลก คือการมีลูกหลานเป็นคนดีไว้สืบสกุล

******************

ความหวังของชาวโลก

            ๑.        บุตรที่เราเลี้ยงมาแล้วจักเลี้ยงตอบแทน

            ๒.        บุตรที่เราเลี้ยงมาแล้วจักทำกิจแทนเรา

            ๓.        วงศ์สกุลของเราจักดำรงอยู่ได้นาน

            ๔.        บุตรจักปกครองทรัพย์มรดกแทนเรา

            ๕.        เมื่อเราละโลกไปแล้ว บุตรจักบำเพ็ญทักษิณาทานให้

            เพราะปรารถนาฐานะ ๕ ประการนี้  บิดามารดาจึงอยากได้บุตร

******************

บุตรแปลว่าอะไร ?

            บุตร มาจากคำว่า ปุตฺต แปลว่า ลูก  มีความหมาย ๒ ประการ คือ

            -  ผู้ทำสกุลให้บริสุทธิ์

            -  ผู้ยังหทัยของพ่อแม่ให้เต็มอิ่ม

******************         

ประเภทของบุตร

            ประเภทของบุตรแบ่งโดยความดีในตัวได้เป็น ๓ ชั้น ดังนี้

            ๑. อภิชาตบุตร  คือบุตรที่ดีมีคุณธรรมสูงกว่าบิดามารดา  เป็นบุตรชั้นสูง  สร้างความเจริญแก่วงศ์ตระกูล

            ๒.อนุชาตบุตร  คือบุตรที่มีคุณธรรมเสมอบิดามารดา  เป็นบุตรชั้น กลาง  ไม่พอรักษาวงค์ตะกูลไว้ได้

            ๓.อวชาตบุตร คือบุตรที่เลว มีคุณธรรมต่ำกว่าพ่อแม่ เป็นบุตรชั้นต่ำ นำความเสื่อมเสียมาสู่วงศ์ตระกูล

******************

 องค์ประกอบให้ได้ลูกดี

            ๑. ตนเองต้องเป็นคนดี พ่อแม่ที่ทำบุญมาดีจึงจะได้ลูกดีมาเกิด 

            ๒. การเลี้ยงดูอบรมดี 

 

******************

วิธีเลี้ยงดูลูก

            การเลี้ยงดูลูกมีอยู่ ๒ ทาง  คือการเลี้ยงดูลูกทางโลกและการเลี้ยงดูลูกทางธรรม  ซึ่งพ่อแม่ควรจะเลี้ยงดูลูกให้พร้อมบริบูรณ์ทั้ง ๒ ทาง

๑.วิธีเลี้ยงดูลูกทางโลก

           ๑. กันลูกออกจากความชั่ว กัน หมายถึง ป้องกัน กีดกัน คือไม่เพียงแต่ห้าม หากต้องดำเนินการทุกวิถีทางที่จะไม่ให้ลูกตกไปสู่ความชั่ว 

            การกันลูกออกจากความชั่ว จะต้องทำตั้งแต่ลูกยังเล็ก ๆ นอกจากเรื่องเพื่อนแล้ว ควรให้ลูกอยู่ห่างจากสื่อทุกชนิดที่สร้างตัวอย่างที่ไม่ดีให้ลูก เช่น โฆษณายาฆ่ายุง ภาพยนตร์หรือการ์ตูนที่เห็นความรุนแรง  เป็นต้น  

            การกันลูกจากความชั่วนี้ บางครั้งพ่อแม่กับลูกก็พูดกันไม่เข้าใจ สาเหตุของความไม่เข้าใจกันนั้นมักจะเกิดจากการขัดกันอยู่ ๓ ประการคือ
            - ความเห็นขัดกัน

            - ความต้องการขัดกัน

            - กิเลส

            ความเห็นขัดกัน คือของสิ่งเดียวกันแต่เห็นกันคนละทาง มองกันคนละแง่ 

          ดังนั้นเชื่อฟังคำว่ากล่าวตักเตือนของพ่อแม่ไว้เถิดไม่เสียหลาย ส่วนพ่อแม่เองเมื่อจะห้ามหรือบอกให้ลูกทำอะไร ก็ควรบอกเหตุผลด้วย  อย่าใช้แต่อารมณ์

            ความต้องการขัดกัน คือคนต่างวัยก็มีรสนิยมต่างกัน ความสุขของคนแก่คือชอบสงบ แต่ความสุขของเด็กหนุ่มสาวมักอยู่ที่ได้แต่งตัวสวยๆ ไปเที่ยวเตร่นอกบ้าน ข้อนี้ขัดแย้งกันแน่ ลูกกับพ่อแม่จึงต้องเอาใจมาพบกันที่ความรัก ตกลงกันที่มุมรักระหว่างพ่อแม่กับลูก รู้จักผ่อนสั้นผ่อนยาวตามสมควร 

            กิเลส ถ้าทั้ง ๒ ฝ่าย มีความโกรธ มีทิฏฐิ ดื้อดึง ดื้อด้าน หลงตัวเอง หรือมีกิเลสอื่นๆ ครอบงำอยู่แล้วก็ยากที่จะพูดกันให้เข้าใจ  ต้องทำใจให้สงบและ พูดกันด้วยใจที่เป็นธรรม ด้วยเหตุด้วยผล พ่อแม่ต้องฝึกตนให้เป็นคนมีคุณธรรม และสอนลูกให้เป็นคนดีมีเหตุผลตั้งแต่ยังเล็ก ปัญหาข้อนี้ก็จะเบาบางลง

           ๒. ปลูกฝังลูกในทางดี หมายถึง ให้ลูกประพฤติดีมีศีลธรรม พ่อแม่ต้องพยายามเล็งเข้าหาใจของลูก เพราะใจเป็นตัวควบคุมการกระทำของคน ที่ว่าเลี้ยงลูกให้ดี  คือทำใจของลูกให้ดีนั่นเอง

            สมบัติทางใจก็มี ๒ ประการ เหมือนกัน

                -           ธรรมะ            เป็นอาหารใจ

                -           วิชาความรู้       เป็นเครื่องมือของใจ

            ใจที่ขาดธรรมะเหมือนร่างกายที่ขาดอาหาร ใจที่ขาดวิชาความรู้เหมือนคนที่ขาดเครื่องมือทำงาน

            พ่อแม่ต้องปลูกใจลูกให้มีทั้ง ๒ อย่าง  จึงจะเป็นการปลูกฝังลูกในทางดี ซึ่งทำได้โดย

            ๑.กระทำตนเป็นตัวอย่างที่ดีแก่ลูก

            ๒.เลือกคนดีให้ลูกคบ

            ๓.หาหนังสือดี สื่อดีๆ ให้ลูกดู

            ๔.พาลูกไปหาบัณฑิต เช่น พระภิกษุ ครูบาอาจารย์ที่ดี


            ๓.ให้ลูกได้รับการศึกษา

            พ่อแม่สมัยนี้ควรจะติดตามดูแลลูกอย่างใกล้ชิดมากขึ้น ควรติดต่อกับทางโรงเรียนอยู่เสมอ ขอทราบเวลาเรียน ผลการเรียน รวมทั้งค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่เด็กอ้างว่าทางโรงเรียนเรียกร้องด้วย พ่อแม่ที่มีลูกไปเรียนไกลบ้านต่างจังหวัด และขาดผู้ดูแลที่ไว้วางใจได้ ควรจะเป็นห่วงลูกให้มาก หากไม่จำเป็นจริงๆ
ไม่ควรให้เด็กอยู่หอพัก เว้นแต่จะเชื่อใจเด็กได้ และต้องหาพอพักที่มีระเบียบข้อบังคับเคร่งครัดด้วย

            ๔.จัดแจงให้ลูกแต่งงานกับคนดี  ความหมายในทางปฏิบัติมีอยู่ ๒ ขั้นตอน คือ

            ๔.๑.    พ่อแม่ต้องเป็นธุระในการแต่งงานของลูกให้คำแนะนำและช่วยเหลือ

            ๔.๒.    พ่อแม่ต้องพยายามให้ลูกได้คู่ครองที่ดี

            ในข้อที่ ๔.๒  อาจมีความขัดแย้งระหว่างพ่อแม่กับลูกอยู่ไม่น้อย  คล้ายกับการกันลูกจากความชั่ว แต่การขัดแย้งกันในเรื่องคู่ครองมักจะแรงกว่า ควรจะทำความเข้าใจกันให้ดี  ปัญหาสำคัญมีอยู่ ๒ ข้อ คือ

            ๔.๒.๑.  พ่อแม่แทรกแซงความรักของลูก  มีผลดีหรือเสียอย่างไร?

            ๔.๒.๒.  ใครควรเป็นผู้ตัดสินการแต่งงานของลูก

            “คนที่เราไม่ชอบแต่ลูกรัก ดีกว่าคนที่เรารักแต่ลูกไม่ชอบ”

            คิดเสียว่าเขาเป็นเนื้อคู่กัน เว้นแต่คนที่ลูกปลงใจรักเป็นคนเลว หลอกลวง จะชักนำลูกเราไปในทางเสีย อย่างนี้ต้องห้าม แม้ว่าลูกจะรักก็ตาม

            ๕. มอบทรัพย์มรดกให้เมื่อถึงกาลอันสมควร 

            การทำธุระเกี่ยวกับทรัพย์มรดกให้เสร็จสิ้นก่อนตาย เป็นการชอบด้วยพุทธประสงค์ วงศ์ตระกูลก็มีความสงบสุขต่อไป รายใดที่พ่อแม่ไม่ทำพินัยกรรมไว้ให้เรียบร้อย  ปล่อยให้ลูกๆ จัดการกันเอง  ก็มักเกิดเรื่องร้าวฉานขึ้นในวงพี่ๆ น้องๆ จนถึงกับฟ้องร้องขึ้นศาลกันก็มี พี่น้องแตกความสามัคคี ทรัพย์สินก็เสื่อมหายลง  เป็นเรื่องที่น่าสลดใจยิ่งนัก

 

๒.วิธีเลี้ยงดูลูกในทางธรรม

            ๑. พาลูกเข้าวัดเพื่อศึกษาหาความรู้ทางพระพุทธศาสนา

            ๒. ชักนำลูกให้สวดมนต์ก่อนนอนทุกคืน

            ๓. ชักนำให้ลูกทำบุญ เช่น ตักบาตร รักษาศีล เป็นต้น

            ๔. ชักนำให้ลูกทำสมาธิภาวนา

            ๕. ถ้าลูกเป็นชายให้บวชเป็นสามเณร หรือเป็นพระภิกษุ แล้วเข้าปฏิบัติกรรมฐาน  รวมทั้งศึกษาพระปริยัติธรรม

 ********************

ความสำคัญของความอบอุ่นในวัย ๐ – ๓ ขวบ

            จากผลการวิจัยทางการเพทย์พบว่า การเลี้ยงดูลูกด้วยน้ำนมแม่อย่างน้อย ๖ เดือนขึ้นไปและความอบอุ่นของทารกในวัย ๐-๓ ขวบ มีความสำคัญต่อพฤติกรรมของเด็กเมื่อโตขึ้นอย่างมาก จากการศึกษาจิตใจเด็กพบว่า เด็กที่ได้กินนมแม่นาน ๖ เดือนขึ้นไป จะมีจิตใจร่าเริงอยู่เสมอ 

เด็กที่กินนมขวดแบบตรงกันข้าม จิตแพทย์อธิบายว่า ความสุขของเด็กที่พบได้ในเด็กกินนมแม่นั้น เกิดจากการที่แม่ได้อุ้มโอ๋ประคองกอดเด็กไว้แนบอก มีการถ่ายทอดความรู้สึกทางผิวหนัง ทางประสาทหูและประสาทตา หูเด็กได้ยินเสียงเต้นของหัวใจแม่ และได้ยินเสียงหายใจในอกของแม่ สิ่งเหล่านนี้รวมกันเป็นองค์ประกอบสัมผัสให้เกิดความรู้สึกอบอุ่นเป็นสุขขึ้นมา แล้ะผันแปรกลายเป็นความเมตตาและความไม่เห็นแก่ตัว ซึ่งจะพบได้ในเด็กที่ได้กินนมแม่นาน ๖ เดือนขึ้นไป เด็กจะกินนมอย่างพอใจ สุขใจและยิ้ม อารมณ์ดี  ไม่มีความรู้สึกขาดแคลนใดๆ เกิดขึ้นจิตใจจะมั่นคง รู้จักเหตุผลและรู้จักรอคอย นั่นคือ รู้จักอดทนต่อทุกสถานการณ์ได้ดียิ่ง สิ่งเหล่านี้จะมีน้อยมากหรือแทบไม่มีเลยในเด็กที่กินนมขวดนิสัยขาดเมตตาและเห็นแก่ตัวจะพบได้สูงในเด็กกินนมขวด

            สมองคนทุกคนได้รับข้อมูลทั้งชั่วและดี รวมกันอัดไว้แน่นตอนช่วงอายุ ๐-๓ ขวบ ข้อมูลก่อน ๓ ขวบที่สองเก็บไว้นั้น เปลี่ยนแปลงได้ยาก มีหลักฐานยืนยันว่าเป็นเช่นนี้จริง เช่น คนกลัวแมว คนกลัวฟ้าร้อง คนกลัวความสูง ส่วนใหญ่เกิดจากประสบการณ์ที่เกิดในวัย ๐-๓ ขวบ และจะแก้นิสัยเหล่านี้ได้ยาก ดังนั้น การจะสอนคนให้เป็นคนดีต้องสอนตั้งแต่ก่อน ๓ ขวบ นิสัยดี ๆ นั้นจะได้ฝังแน่นติดตัวเด็กไปตลอด เด็กเล็กที่กินนมแม่จะได้ข้อมูลที่ดีฝังในสมองในเรื่องของความเมตตาและความไม่เห็นแก่ตัว เด็กกินนมแม่เหล่านี้ ถ้าไม่ขาดแม่ในช่วงชีวิต ๐-๓ ขวบจะเป็นเด็กที่มีสุขภาพจิตดีเยี่ยม

  ********************

ข้อเตือนใจ

            ๑.        รักลูกแต่อย่าโอ๋ลูก อย่าตามใจลูกเกินไป 

            ๒.        อย่าเคร่งระเบียบจนเกินไป  รู้จักผ่อนสั้นผ่อนยาว

            ๓.        ให้ความอบอุ่นแก่ลูกให้เพียงพอ  

            ๔.        เมื่อเห็นลูกทำผิด ควรตำหนิทันทีเพื่อจะได้แก้ไขทันท่วงที

            ๕.        ต้องฝึกให้ลูกทำงานตั้งแต่ยังเล็ก 

            ๖.        การเลี้ยงลูก ให้แต่ปัจจัย ๔ ยังไม่พอ  จะต้องให้ธรรมะแก่ลูกด้วย

 ********************

อานิสงส์การเลี้ยงดูบุตร

            ๑.        พ่อแม่จะได้ความปีติภาคภูมิใจเป็นเครื่องตอบแทน

            ๒.        ครอบครัวจะสงบร่มเย็นเป็นสุข

            ๓.        ประเทศชาติจะมีคนดีไว้ใช้

            ๔.        เป็นต้นแบบที่ดีงามของสังคมสืบไปตลอดกาลนาน

                                                            ฯลฯ

            “บัณฑิตทั้งหลาย ย่อมปรารถนาอภิชาตบุตร อนุชาตบุตร ไม่ปรารถนาอวชาตบุตรผู้ตัดสกุล บุตรเหล่านี้แล มีพร้อมอยู่ในโลก บุตรเหล่าใดเป็นอุบาสก มีศรัทธา ถึงพร้อมด้วยศีล รู้ถ้อยคำ ปราศจากความตระหนี่ บุตรเหล่านั้น ย่อมไพโรจน์ในบริษัททั้งหลาย เหมือนพระจันทร์พ้นจากก้อนเมฆ ไพโรจน์อยู่"

********************


มงคล ที่ 11 บำรุงบิดามารดา

 มงคล ที่ 11  บำรุงบิดามารดา

ต้นไม้ที่ได้รับการดูแลให้น้ำให้ปุ๋ย ไปบำรุงลำต้นจนสมบูรณ์

เมื่อถึงเวลาแล้ว ย่อมออกดอกออกผลให้แก่เจ้าของฉันใด

คนที่ได้รับการเลี้ยงดูจนเติบใหญ่

เมื่อมีโอกาสย่อมตอบแทนคุณพ่อแม่และผู้มีอุปการคุณฉันนั้น

ทองคำแท้หรือไม่ โดนไฟก็รู้ 

คนดีแท้หรือไม่ ให้ดูตรงที่เลี้ยงพ่อแม่ 

ถ้าดีจริงต้องเลี้ยงพ่อแม่  ถ้าไม่เลี้ยงแสดงว่าไม่ดีจริง 

เป็นพวกทองชุบ ทองเก๊

*************

พระคุณของพ่อแม่

บิดามารดาเป็นผู้มีพระคุณอันยิ่งใหญ่ของบุตร สรุปโดยย่อคือ

            ๑.เป็นต้นแบบทางกาย แบบเป็นสิ่งที่จำเป็นในการทำให้ของทั้งหลาย ในโลกมีค่าสูงขึ้น ตัวอย่างเช่น ก้อนดินเหนียวธรรมดา  เช่นแบบเป็นพระพุทธรูป ดินเหนียวก้อนนี้ก็จะทรงคุณค่ามากยิ่งขึ้น     ผู้คนได้กราบไหว้บูชา จะเห็นได้ว่า คุณค่าของดินเหนียวก้อนนี้ขึ้นอยู่กับแบบที่พิมพ์นั่นเอง

            ในทำนองเดียวกัน การเกิดของสัตว์ เช่นเป็น ช้าง ม้า วัว ควาย ฯลฯ แม้จะมีปัญญาติดตัวมามากสักปานใดก็ไม่สามารถทำความดีได้เต็มที่ คนได้โครงร่างที่ประเสริฐเหมาะในการทำความดีทุกประการ 

            ๒. เป็นต้นแบบทางใจ ให้ความอุปการะเลี้ยงดู ฟูมฟัก ทะนุถนอม อบรมสั่งสอน  ปลูกฝังกิริยามารยาท  ให้ความรู้ทั้งทางโลกและทางธรรมแก่ลูกพระคุณพ่อแม่ในการเป็นต้นแบบทางกายให้เรา 

******************************

สมญานามของพ่อแม่

            สมญานามของพ่อแม่นั้นเป็นทั้งพรหมของลูก เทวดาคนแรกของลูก ครูคนแรกของลูก และเป็นพระอรหันต์ของลูก อธิบายได้ดังนี้

            - พ่อแม่เป็นพรหมของลูก  เพราะเหตุที่มีพรหมวิหารธรรม ๔ ประ-การ ได้แก่

            ๑.        มีเมตตา  

            ๒.        มีกรุณา 

            ๓.        มีมุทิตา 

            ๔.        มีอุเบกขา 

            -พ่อแม่เป็นเทวดาคนแรก (บุรพเทพ) ของลูก  เพราะคอยปกป้องคุ้มกันภัยเลี้ยงดูลูกมาก่อนผู้มีความปรารถนาดีคนอื่นๆ

            - พ่อแม่เป็นครูวิสุทธิเทพของลูก  เพราะมีคุณธรรม 4ประการ ได้แก่

            ๑.        ไม่ถือสาในความผิดของลูก 

            ๒.        ปรารถนาประโยชน์แก่ลูกเสมอ

            ๓.        เป็นทักขิเณยยบุคคล เป็นเนื้อนาบุญของลูก

            ๔.        เป็นอาหุเนยยบุคคล    เป็นผู้ควรแก่การรับของคำนับ  

******************************

คุณธรรมของลูก

            เมื่อพ่อแม่มีพระคุณมากมายปานนี้ ลูกจึงควรมีคุณธรรมต่อท่าน ตอบแทนคุณท่าน ในทางพระพุทธศาสนาคือคำว่า กตัญญู กตเวที คุณค่าและศักดิ์ศรีของความเป็นลูกรวมอยู่ใน ๒ คำนี้

                   กตัญญู หมายถึง เห็นคุณค่าท่าน คือเห็นด้วยใจ  ด้วยปัญญา

                    กตเวที หมายถึง การทดแทนพระคุณของท่าน  ซึ่งมีงานที่ต้องทำ ประการ คือ

                    ๑. ประกาศคุณท่าน

                    ๒. ตอบแทนคุณท่าน

            การประกาศคุณท่าน หมายถึง การทำให้ผู้อื่นรู้ว่าพ่อแม่มีคุณแก่เราอย่างไรบ้าง 

            ความประพฤติของเราก็เป็นตัวประกาศคุณท่านหรือประจานท่านอยู่ตลอดเวลา 

            การตอบแทนคุณท่าน  แบ่งเป็น ๒ ช่วง คือ

            ๑.เมื่อท่านยังมีชีวิตอยู่ ก็ช่วยเหลือกิจการงานของท่าน เลี้ยงดูท่านตอบเมื่อยามท่านชรา ดูแลปรนนิบัติการกินอยู่ของท่านให้สะดวกสบายและเอาใจใส่ช่วยเหลือเมื่อท่านเจ็บป่วย

            ๒.เมื่อท่านล่วงลับไปแล้ว ก็จัดพิธีศพให้ท่าน และทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้ท่านอย่างสม่ำเสมอ

             ผู้ที่มีความกตัญญูกตเวทีต้องการจะสนองพระคุณท่านให้ได้ทั้งหมด พึงกระทำดังนี้

            ๑.ถ้าท่านยังไม่มีศรัทธาในพระพุทธศาสนา ก็พยายามชักนำให้ท่านตั้งอยู่ในศรัทธาให้ได้

            ๒.ถ้าท่านยังไม่ถึงพร้อมด้วยการให้ทาน ก็พยายามชักนำให้ท่านยินดีในการบริจาคทานให้ได้

            ๓.ถ้าท่านยังไม่มีศีล  ก็พยายามชักนำให้ท่านรักษาศีลให้ได้

            ๔.ถ้าท่านยังไม่ทำสมาธิภาวนา  ก็พยายามชักนำให้ท่านทำสมาธิภาวนาให้ได้

            เพราะว่าการตั้งอยู่ในศรัทธา การให้ทาน การรักษาศีล การทำสมาธิภาวนาเป็นประโยชน์โดยตรงและเป็นประโยชน์อันยิ่งใหญ่แก่ตัวบิดามารดาผู้ปฏิบัติ เองทั้งในภพนี้ภพหน้า  และเป็นประโยชน์อย่างยิ่งคือเป็นหนทางไปสู่นิพพาน

อานิสงส์การบำรุงบิดามารดา

            ๑.        ทำให้เป็นคนมีความอดทน

            ๒.        ทำให้เป็นคนมีสติรอบคอบ

            ๓.        ทำให้เป็นคนมีเหตุผล

            ๔.        ทำให้พ้นทุกข์พ้นภัย

            ๕.        ทำให้ได้ลาภโดยง่าย

            ๖.        ทำให้แคล้วคลาดภัยในยามคับขัน

            ๗.        ทำให้เทวดาลงรักษา

            ๘.        ทำให้ได้รับการยกย่องสรรเสริญ

            ๙.        ทำให้มีความเจริญก้าวหน้า

            ๑๐.      ถ้ามีลูกก็จะได้ลูกที่ดี

            ๑๑.      ทำให้มีความสุข

            ๑๒.     ทำให้เป็นแบบอย่างอันดีแก่อนุชนรุ่นหลัง

                                                            ฯลฯ

            “เพราะการปรนนิบัติในมารดาบิดานั้นแล บัณฑิตทั้งหลายย่อมสรรเสริญเขาในโลกนี้นี่เอง เขาละไปแล้ว ย่อมบันเทิงในสวรรค์”