มงคล ที่ ๒๒ มีความเคารพ
************************
เมื่อจะใช้ประโยชน์จากสิ่งใด
เราจำเป็นต้องรู้ถึงคุณค่าของสิ่งนั้นก่อนฉันใด
ผู้ที่จะรับประโยชน์จากบุคคลอื่นได้
ก็จำเป็นต้องมีความเคารพต่อบุคคลทั้งหลายก่อนฉันนั้น
************************
ความเคารพ คือ อะไร ?
ความเคารพ หมายถึง ความตระหนัก ซาบซึ้ง รู้ถึงคุณความดีที่มี อยู่จริงของบุคคลอื่น ยอมรับนับถือความดีของเขาด้วยใจจริง แล้วแสดงความนับถือต่อผู้นั้นด้วยการแสดงความอ่อนน้อม อ่อนโยน อย่างเหมาะสม ทั้งต่อหน้าและลับหลัง
ดังนั้น คนที่มีปัญญามากจนกระทั่งตระหนักในคุณความดีของผู้อื่น จึงจัดเป็นคนพิเศษจริงๆ เพราะใจของเขาได้ยกสูงขึ้นแล้ว พ้นจากความถือตัวต่างๆ เปิดกว้างพร้อมที่จะรองรับความดีจากผู้อื่นเข้าสู่ตน คนชนิดนี้คือ คนที่มีความเคารพ
สิ่งที่ควรเคารพอย่างยิ่ง
ในโลกนี้มีคน สัตว์ สิ่งของ เหตุการณ์ การงาน และอื่นๆ อีกมากมายจนนับไม่ถ้วนที่เกี่ยวข้องกับตัวเรา แต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแนะให้เรามีความเคารพ ไม่ดูเบา ตระหนักในสิ่งมีคุณค่าที่สำคัญ ๗ ประการ ได้แก่
๑.ให้มีความเคารพในพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
๒.ให้มีความเคารพในพระธรรม
๓.ให้มีความเคารพในพระสงฆ์
๔.ให้มีความเคารพในการศึกษา
๕.ให้มีความเคารพในสมาธิ
๖.ให้มีความเคารพในความไม่ประมาท
๗.ให้มีความเคารพในการต้อนรับแขก
ความเคารพในพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คือตระหนักถึงพระคุณความดีอันมีอยู่ในพระองค์ ซึ่งกล่าวโดยย่อได้แก่ พระปัญญาคุณ พระบริสุทธิคุณ และพระมหากรุณาธิคุณ แล้วแสดงออกซึ่งความเคารพ ดังนี้
สมัยเมื่อพระองค์ยังทรงพระชนม์อยู่ ก็แสดงความเคารพโดย
๑. เข้าเฝ้าทั้ง ๓ กาล คือเช้า กลางวัน เย็น
๒. เมื่อพระองค์ไม่สวมรองเท้าจงกรม เราจะไม่สวมรองเท้าจงกรม
๓. เมื่อพระองค์จงกรมในที่ต่ำ เราจะไม่จงกรมในที่สูงกว่า
๔. เมื่อพระองค์ประทับในที่ต่ำ เราจะไม่อยู่ในที่สูงกว่า
๕. ไม่ห่มผ้าคลุมบ่าทั้งสอง ในที่ซึ่งทอดพระเนตรเห็น
๖. ไม่สวมรองเท้าในที่ซึ่งทอดพระเนตรเห็น
๗. ไม่กางร่มในที่ซึ่งทอดพระเนตรเห็น
๘. ไม่ถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะในที่ซึ่งทอดพระเนตรเห็น
สมัยเมื่อพระองค์ปรินิพพานแล้วก็แสดงความเคารพโดย
๑.ไปไหว้พระเจดีย์ตามโอกาส
๒.ไปไหว้สังเวชนียสถาน คือสถานที่ประสูติ ตรัสรู้ ปฐมเทศนา ปรินิพพาน ตามโอกาส
๓.เคารพพระพุทธรูป
๔. เคารพเขตพุทธาวาส คือเขตโบสถ์
๕.ไม่สวมรองเท้าในลานพระเจดีย์
๖.ไม่กางร่มในลานพระเจดีย์
๗.เมื่อเดินใกล้พระเจดีย์ ไม่เดินไปพูดไป
๘.เมื่อเข้าในเขตอุโบสถ ก็ถอดรองเท้า หุบร่ม ไม่ทำอาการต่างๆ ซึ่งแสดงถึงความกระด้าง หยาบคาย
๙.ปฏิบัติตนตามพุทธโอวาทอยู่เป็นนิตย์
ความเคารพในพระธรรม คือตระหนักถึงคุณประโยชน์อันมหาศาลของพระธรรมคำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วแสดงออกซึ่งความ เคารพ ดังนี้
๑.เมื่อมีประกาศแสดงธรรมก็ไปฟัง
๒.ฟังธรรมด้วยความสงบ สำรวม ตั้งใจ
๓.ไม่นั่งหลับ ไม่นั่งคุยกัน ไม่คิดฟุ้งซ่าน ขณะฟังธรรม
๔.ไม่วางหนังสือธรรมะไว้ในที่ต่ำ
๕.ไม่ดูหมิ่นพระธรรม
๖.บอกธรรม สอนธรรม ด้วยความระมัดระวังไม่ให้ผิดพลาด
ความเคารพในพระสงฆ์ คือตระหนักถึงคุณความดีของพระสงฆ์ ผู้ประพฤติดีปฏิบัติชอบ เป็นผู้สืบอายุพระพุทธศาสนา แล้วแสดงออกซึ่งความเคารพ ดังนี้
๑.กราบไหว้ โดยกิริยาอาการเรียบร้อย
๒.นั่งเรียบร้อย ไม่นั่งกอดเข่าเจ่าจุก
๓.ไม่สวมรองเท้า ไม่กางร่ม ในที่ประชุมสงฆ์
๔.ไม่คะนองมือคะนองเท้าต่อหน้าท่าน
๕.เมื่อพระเถระไม่เชิญ ไม่แสดงธรรม
๖.เมื่อพระเถระไม่เชิญ ไม่อวดรู้แก้ปัญหาธรรม
๗.ไม่เดิน ยืน นั่ง เบียดพระเถระ
๘.แลดูท่านด้วยจิตเลื่อมใส
๙.ต้อนรับท่านด้วยไทยธรรม
ความเคารพในการศึกษา คือตระหนักถึงคุณค่าของการศึกษาหาความรู้ แล้วแสดงออกซึ่งความเคารพ โดยตั้งใจศึกษาเล่าเรียนอย่างเต็มที่ทั้งทางโลกและทางธรรม จะศึกษาเรื่องใดก็ศึกษาให้ถึงแก่น ให้เข้าใจจริงๆ ไม่ทำเหยาะแหยะ บำรุงการศึกษา สนับสนุนการศึกษาทั้งทางโลกและทางธรรม
ความเคารพในสมาธิ คือตระหนักถึงคุณประโยชน์อันมหาศาลของการทำสมาธิ แล้วแสดงออกซึ่งความเคารพ โดยตั้งใจฝึกสมาธิอย่างสม่ำเสมอให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ เพราะสมาธิเป็นสิ่งสำคัญยิ่งในการสร้างความดีทั้งหลาย เป็นการฝึกฝนตนเองอย่างยิ่งยวด ทำให้รู้และเข้าใจธรรมอย่างแท้จริง ดังจะเห็นได้จากในไตรสิกขา ซึ่งถือเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา ได้แก่ ศีล สมาธิ ปัญญา พระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ตรัสไว้ว่า “ศีลจะเป็นพื้นฐานทำให้เกิดสมาธิได้ง่าย แล้วสมาธิจะทำให้เกิดปัญญาซึ่งเป็นเครื่องพาเราให้บรรลุนิพพาน” จะเห็นว่าเรารักษาศีลก็เพื่อไม่ให้ไปทำความชั่ว ทำให้ใจไม่เศร้าหมอง เป็นสมาธิได้ง่าย และปัญญาก็เกิดจากสมาธิ สมาธิจึงเป็นหัวใจหลักในการทำความดีทุกชนิด แม้การกำจัดกิเลสเข้าสู่นิพพาน
สมาธิ ภิกฺขเว ภาเวถ ฯ สมาหิโต ภิกฺขเว ภิกฺขุ ยถาภูตํ ปชานาติ ฯ
ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงเจริญสมาธิเถิด ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ทีจิตตั้งมั่นแล้ว ย่อมรู้ชัดตามความเป็นจริง
สํ. ข. ๑๗/๒๗/๑๘
มีบางคนพยายามจะเข้าถึงธรรม โดยการอ่านและฟังธรรม โดยไม่ยอมทำสมาธิ ซึ่งแม้เขาจะอ่านจะท่องธรรมะได้มากเพียงใด ก็ย่อมไม่มีโอกาสเข้าถึงธรรมได้เลย เพราะความรู้ธรรมจากการอ่านการท่องนั้น เป็นเพียงพื้นฐานความรู้เท่านั้น จะบังเกิดผลเป็นดวงปัญญารู้แจ้ง สว่างไสว ต่อเมื่อได้นำไปปฏิบัติด้วยการทำสมาธิอย่างยิ่งยวดแล้วเท่านั้น
ยังมีบางคนกล่าวว่า การทำสมาธิเป็นส่วนเกินบ้าง เป็นการเสียเวลา เปล่าบ้าง ถ้าพบใครที่กล่าวเช่นนี้ ก็พึงทราบทันทีว่าเขากล่าวตู่พุทธพจน์เสียแล้ว เป็นคนที่ใช้ไม่ได้ ไม่ควรคบ เพราะเขายกตัวของเขาเอง เขาผยองคิดว่าตนเก่งกว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสียแล้ว ใช้ไม่ได้
ความเคารพในความไม่ประมาท คือตระหนักถึงคุณประโยชน์ของการมีสติกำกับตัวในการทำงานต่างๆ แล้วแสดงออกซึ่งความเคารพโดยหมั่นฝึกสติเพื่อให้ไม่ประมาท ด้วยการเจริญสมาธิภาวนาอยู่เนืองๆ มิได้ขาด
ความเคารพในการต้อนรับแขก คือตระหนักถึงคุณประโยชน์ของการต้อนรับแขก ว่าทำให้ไม่ก่อศัตรู ปกติคนเราจะให้ดีพร้อม ทำอะไรถูกใจคนทุกอย่างย่อมเป็นไปไม่ได้ อาจมีช่องว่างรอยโหว่ มีข้อบกพร่องบ้าง การต้อนรับแขกนี้จะเป็นการปิดช่องว่างรอยโหว่ในตัว ทำให้ได้มิตรเพิ่ม เราจึงต้องให้ความสำคัญแก่ผู้มาเยือน ด้วยการต้อนรับ ๒ ประการ ดังนี้
๑.อามิสปฏิสันถาร ต้อนรับด้วยสิ่งของ เช่น อาหารน้ำดื่ม เลี้ยงดูอย่างดี ไม่ให้ขาดตกบกพร่อง ฯลฯ
๒.ธรรมปฏิสันถาร ต้อนรับด้วยธรรม เช่น สนทนาธรรมกัน แนะนำธรรมะให้แก่กัน ฯลฯ
นอกจากตัวเราจะต้องตระหนักถึงความสำคัญของการต้อนรับแขกแล้ว แม้คนในบ้านก็ต้องฝึกให้ต้อนรับแขกเป็นด้วย ไม่เช่นนั้นจะพลาดไป เช่น ข้าราชการผู้ใหญ่บางคนตนเองต้อนรับแขกได้อย่างดีเยี่ยม แต่ไม่ได้ฝึกคนในบ้านไว้ เวลาตนเองไม่อยู่มีแขกมาหาที่บ้าน เด็กและคนรับใช้พูดจากับเขาไม่ดี ทำให้เขาผูกใจเจ็บ คิดว่าเจ้าของบ้านยุยงส่งเสริม จึงหาทางโจมตีเอาจนต้องเสียผู้เสียคนมาก็มากต่อมากแล้ว โดยที่ตนเองก็ไม่รู้สาเหตุว่าเขาเป็นศัตรูเพราะอะไร
สิ่งที่ควรเคารพทั้ง ๗ ประการนี้ เป็นแกนหลักของความเคารพทุกอย่าง เมื่อเราสามารถตรองจนตระหนักถึงคุณของสิ่งที่ควรเคารพอย่างยิ่ง ทั้ง ๗ ประการนี้แล้ว ต่อไปเราก็จะสามารถตรองถึงความดีของสิ่งอื่นๆ ได้ชัดเจนและละเอียดลึกซึ้งยิ่งขึ้น กลายเป็นผู้รู้จริงและทำได้จริงผู้หนึ่ง
เมื่อฝึกตนเองให้มากด้วยความเคารพแล้ว ในไม่ช้านิสัยชอบจับผิดผู้อื่นก็จะค่อยๆ หายไป เจอใครก็จะคอยมองแต่คุณความดีของเขา ต่อไปความชั่วทั้งหลายเราก็จะนึกไม่ออก นึกออกแต่ความดีและวิธีทำความดีเท่านั้น ตัวเราก็จะกลายเป็นที่รวมแห่งความดีเหมือนทะเลเป็นที่รวมของน้ำฉะนั้น
การแสดงความเคารพ
การแสดงความเคารพ คือการแสดงความตระหนักในคุณความดีของสิ่งที่เราเคารพด้วยใจจริง ให้ปรากฏชัดแก่บุคคลทั่วไป ด้วยการแสดงออกทางกาย วาจา มีอยู่หลายวิธี เช่น หลีกทางให้ ลุกขึ้นยืนต้อนรับ การให้ที่นั่งแก่ท่าน การประนมมือเวลาพูดกับท่าน การกราบ การไหว้ การขออนุญาตก่อนทำกิจต่างๆ การวันทยาวุธ การวันทยหัตถ์ การยิงสลุต การลดธง ฯลฯ
การแสดงความเคารพที่ถูกต้องตามหลักธรรม หมายถึง การแสดงออกเพราะตระหนักในคุณความดีของสิ่งที่เคารพด้วยใจจริง นักเรียนที่คำนับครูเพราะเกรงว่าถ้าไม่ทำจะถูกตัดคะแนนความประพฤติ ทหารที่ทำวันทยหัตถ์ผู้บังคับบัญชาตามกฎระเบียบ หรือทำเพราะเกรงว่าถ้าไม่ทำจะถูกลงโทษ อย่างนี้ไม่จัดว่าเป็นความเคารพ เป็นแต่เพียงวินัยอย่างหนึ่งเท่านั้น
ข้อเตือนใจ
ดังได้กล่าวแล้วว่า ความเคารพ คือการตระหนักในความดีของคนอื่นและสิ่งอื่น ซึ่งผู้ที่จะตระหนักในความดีของคนอื่นและสิ่งอื่นได้ จะต้องมีคุณสมบัติอย่างหนึ่งเป็นทุนอยู่ในใจก่อนคือมีปัญญา ความรู้จักผิดชอบชั่วดีพอสมควร
และเมื่อเราแสดงความเคารพออกไปแล้ว อีกฝ่ายหนึ่งก็จะรู้ทันทีว่า “อ้อ !คนนี้เขามีคุณธรรมสูง มีความเคารพและมีแววปัญญา” เขาก็เกิดความตระหนักในความดีของเรา และแสดงกิริยาเคารพต่อเราที่เรียกว่า รับเคารพ
แต่ถ้าผู้ใด เมื่อมีคนมาแสดงความเคารพแล้วเฉยเสีย ไม่แสดงความเคารพตอบ ผู้นั้นจัดเป็นคนน่าตำหนิอย่างยิ่ง เพราะการเฉยเสียนั้นเท่ากับบอกให้ชาวโลกรู้ว่า “ตัวข้านี้ แสนจะโง่เง่าหามีปัญญาพอที่จะเห็นคุณความดีในตัวท่านไม่” เท่านั้นเอง
คนที่ไม่อยากแสดงความเคารพคนอื่น หรือเมินเฉยต่อการเคารพตอบ มักเป็นเพราะเข้าใจว่าการแสดงกิริยาเคารพออกมานั้น เป็นการลดสง่าราศรีของตนแล้วเอาไปเพิ่มให้แก่คนอื่น เลยเกิดความเสียดายเกรงว่าตัวเองจะไม่ใหญ่โต หรือเกรงว่าคนอื่นจะไม่รู้ว่าตัวเองใหญ่โต นั้นเป็นการคิดผิดอย่างยิ่ง
อานิสงส์การมีความเคารพ
๑. ทำให้เป็นคนน่ารัก น่าเอ็นดู น่าเกรงใจ
๒. ทำให้ได้รับความสุขกาย สบายใจ
๓. ทำให้ไม่มีความเดือดร้อน ไม่มีเวร ไม่มีภัย
๔. ทำให้สามารถถ่ายทอดความดีจากผู้อื่นได้ง่าย
๕. ทำให้ผู้อื่นอยากช่วยเหลือเพิ่มเติมคุณความดีให้
๖. ทำให้สติดีขึ้น เป็นคนไม่ประมาท
๗. ทำให้เป็นคนมีปัญญาละเอียดอ่อน รู้จริง และทำได้จริง
๘. ทำให้เกิดในตระกูลสูงไปทุกภพทุกชาติ
๙. ทำให้บรรลุมรรคผลนิพพานโดยง่าย
ฯลฯ
“ภิกษุมีพระศาสดาเป็นที่เคารพ ๑ มีพระธรรมเป็นที่เคารพ ๑ มีความเคารพในพระสงฆ์อย่างแรงกล้า ๑ มีความเคารพในสมาธิ ๑ มีความเพียรเคารพยิ่งในไตรสิกขา ๑ มีความเคารพในความไม่ประมาท ๑ มีความเคารพในปฏิสันถาร ๑ เป็นผู้ไม่ควรเพื่อจะเสื่อม ชื่อว่าอยู่ในที่ใกล้นิพพานทีเดียว”
องฺ สตฺตก. ๒๓/๒๙/๒๙-๓๐
หนังสือมงคลชีวิต 38 ประการ ฉบับทางก้าวหน้า
โดย พระมหาสมชาย ฐานวุฑโฒ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น