วันพุธที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2566

มงคลที่ 17 สงเคราะห์ญาติ

        มงคลที่ ๑๗  สงเคราะห์ญาติ

ต้นไม้ที่เกิดรวมกันเป็นป่าดง
แต่ละต้นย่อมช่วยต้านลมพายุให้แก่กัน จึงยืนต้นอยู่ได้นาน
ผิดจากต้นไม้ที่เกิดอยู่โดดเดี่ยว แม้จะเป็นไม้เจ้าป่าสูงใหญ่ก็ตาม
เมื่อโต้พายุตามลำพัง ย่อมหักโค่นลงโดยง่าย
เช่นกัน คนที่มีญาติอยู่พร้อมหน้า ก็ย่อมมีผู้คอยช่วยเหลือ
ต้านทานมรสุมชีวิตให้ผ่อนหนักเป็นเบา
และเมื่อเราทำดีมีสุข มีทางเจริญก้าวหน้า ก็มีคนให้ความสนับสนุน
**************************************************

ญาติ คือ ใคร ?

            ญาติ แปลว่า คนคุ้นเคย คนใกล้ชิด หมายถึง บุคคลที่คุ้นเคยและวางใจกันได้ มี ๒ ประเภท ได้แก่

            ๑. ญาติทางโลก แบ่งได้เป็น ๒ พวก คือ

            - ญาติโดยสายโลหิต เช่น ทวด ปู่ ย่า ตา ยาย ลุง ป้า น้า อา พี่ น้อง หลาน เหลน ฯลฯ (สำหรับพ่อแม่ ลูก ภรรยา สามี ถือว่าเป็นคนใกล้ชิดเรามากที่สุด ขอให้ยกไว้ต่างหาก เพราะเรามีหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติต่อบุคคลเหล่านี้ต่างกันออกไป และมีรายละเอียดอยู่ในมงคลที่ ๑๑,๑๒,๑๓ แล้ว)

            - ญาติโดยความใกล้ชิดคุ้นเคย  เช่น เป็นเพื่อนสนิทสนมกับเราโดยตรงหรือสนิทสนมกับญาติทางสายโลหิตของเรา

            ๒. ญาติทางธรรม หมายถึง ผู้เป็นญาติเพราะเหตุ ๔ ประการ คือ

            - เป็นญาติเพราะบวชให้เป็นภิกษุ

            - เป็นญาติเพราะบวชให้เป็นสามเณร

            - เป็นญาติเพราะให้นิสสัย  (พิธีกรรมของสงฆ์ที่พระอุปัชฌาย์ให้แก่ศิษย์)

            - เป็นญาติเพราะสอนธรรมะให้

**************************************************

วิธีร่อนหาญาติแท้ๆ

            คนรู้จักกันที่มีใจผูกพันกับผู้ที่ตนถือว่าเป็นญาติเสมอ แม้แยกย้ายกันไปก็อยากรู้ข่าวคราวว่าผู้นั้นทุกข์หรือสุข หากเดือดร้อนก็พร้อมจะช่วยสงเคราะห์ อย่างนี้เรียกว่าญาติ ญาติที่แท้ต้องมีใจผูกพันทั้งต่อหน้าและลับหลัง ถ้ารู้จักกันเพียงผิวเผินจากไปแล้วก็แล้วกันไป อย่างนี้ไม่นับเป็นญาติ ยิ่งถ้าคนรู้จักมักคุ้นกันนั้นดีกับเราเฉพาะยามเราเจริญ คำก็พี่สองคำก็น้อง แต่พอเราเพลี่ยงพล้ำลง ชักหันมาเล่นแง่ จะแล่เอาเนื้อจะเถือเอาหนัง คนอย่างนี้ไม่ใช่ญาติแน่นอน  วิธีพิจารณาว่าใครเป็นญาติดูได้ง่ายๆ คือ  ใครก็ตามที่เมื่อ รู้ว่าเราเจ็บป่วยก็มาเยี่ยมเยือน  แม้ยามที่เราปราศจากลาภ ยศ ตำแหน่งหน้าที่การงานอันมีเกียรติ ก็ยังปฏิบัติตนเสมอต้นเสมอปลายต่อเรา หรือถ้าเราตายก็พร้อมจะไปเผาศพเรา  นั่นแหละจึงนับว่าเป็นญาติ

**************************************************

ลักษณะญาติที่ควรสงเคราะห์

            ๑.เป็นคนที่พยายามช่วยเหลือตนเองก่อนแล้วอย่างเต็มที่  ไม่งอมืองอเท้า 

            ๒.รู้จักทำตัวให้น่าช่วย มีความประพฤติดี ไม่ยุ่งเกี่ยวกับอบายมุข มีสัมมาคารวะ  มีความอ่อนน้อมถ่อมตน  มีน้ำใจโอบอ้อมอารี

 เวลาที่ควรสงเคราะห์ญาติ

            ๑. เมื่อยากจนหาที่พึ่งไม่ได้

            ๒. เมื่อขาดทุนทรัพย์ค้าขาย

            ๓. เมื่อขาดยานพาหนะ

            ๔. เมื่อขาดอุปกรณ์ทำกิน

            ๕. เมื่อเจ็บไข้ได้ป่วย

            ๖. เมื่อคราวมีธุระการงาน

            ๗. เมื่อคราวถูกใส่ความ มีคดี

            เรื่องการสงเคราะห์ญาติ จะว่าง่ายก็เหมือนยาก ครั้นจะว่ายากก็เหมือนง่าย คนทิ้งญาติพี่น้องจนตัวเองเสียผู้เสียคนไปก็มี คนที่สังเคราะห์ญาติพี่น้องจนตัวเองแทบตายทั้งเป็นก็มาก  เรื่องนี้จึงต้องมีขอบเขต  มีวิธีการที่เหมาะสม  ไม่ใช่ว่าใครทำอะไรให้ญาติแล้วจะดีเสมอไป

 **************************************************

วิธีสงเคราะห์ญาติทางโลก

            ความมุ่งหมายของการสงเคราะห์ญาติ อยู่ที่การผูกสามัคคีรวมน้ำใจญาติให้เป็นปึกแผ่น  โดยใช้หลัก สังคหวัตถุ ๔ ดังนี้

            ๑. ทาน หมายถึง การเอื้อเฟื้อแบ่งกันกินแบ่งกันใช้ ให้ของฝากยาม เยี่ยมเยียน ให้ของขวัญยามมงคล ให้ของกินของใช้ยามตรุษยามสารท และเมื่อแบ่งปันให้ญาติไปแล้ว ก็ไม่คิดจะทวงคืน แต่ถ้าเขานำมาคืนเองก็ควรเก็บสำรองไว้  สำหรับสงเคราะห์ญาติคนอื่นๆ ที่เดือดร้อนต่อไป

            ๒.ปิยวาจา พูดจาต่อกันด้วยคำสุภาพอ่อนโยน เรียกสรรพนามตามศักดิ์ เช่น เรียกลุง ป้า น้า อา อันเป็นภาษาของคนรักใคร่เคารพนับถือกัน ถึงจะโกรธเคืองขัดใจก็ไม่แช่งชักหักกระดูกหรือนินทาว่าร้าย

            ๓.อัตถจริยา ทำตัวให้เป็นประโยชน์แก่ญาติ คือช่วยเหลือเมื่อมีธุระการงาน เช่น แต่งงาน บวชนาค เจ็บป่วย เป็นความ งานศพ และอื่นๆ  อย่างน้อยก็ให้กำลังใจ

            ๔.สมานัตตตา วางตัวกับญาติให้เหมาะสมกับฐานะ ตำแหน่ง เหตุ-การณ์ สิ่งแวดล้อม เคารพญาติผู้ใหญ่ เอ็นดูญาติผู้น้อย เสมอต้นเสมอปลาย ร่วมทุกข์ร่วมสุขไม่ทอดทิ้งกัน

 **************************************************

วิธีสงเคราะห์ญาติทางธรรม

            คือชักชวนญาติให้รู้จักประกอบการบุญการกุศล ชักนำให้ได้ทำทาน รักษาศีล เจริญภาวนา ให้ตั้งอยู่ในศรัทธา สอนธรรมะให้ ชักนำให้บวช ชักนำให้ปฏิบัติธรรม

**************************************************

 ข้อเตือนใจ

            การสงเคราะห์ญาติเป็นความดี เป็นมงคลแก่ผู้ทำ แต่ทั้งนี้ต้องทำตามวิถีทางที่ถูกต้อง คือต้องไม่เอาการช่วยเหลือญาติพี่น้องมาทำให้เสียความเป็นธรรมในหน้าที่ของตน

            ทางฝ่ายญาติพี่น้องซึ่งเป็นผู้ขอรับความช่วยเหลือ ยิ่งต้องคิดให้มาก ถ้ารักกันจริงแล้ว ไม่สมควรที่จะไปขอร้องญาติพี่น้องที่มีอำนาจหน้าที่ให้เขาทำผิด ให้ช่วยเหลือเราในทางที่ไม่เป็นธรรม อย่าขอร้องหรือแม้แต่จะทำให้เขาต้องกังวลใจที่จะมาทำความผิดเพื่อผลประโยชน์ของเรา การขอร้องญาตินั้นไม่ผิดศีล ไม่ผิดธรรม และไม่เสียมารยาทแต่อย่างใด ข้อสำคัญอยู่ที่ว่า  อย่าขอให้เขาทำผิดเพื่อเราก็แล้วกัน

            จะเห็นได้ว่ามงคลที่ ๑๑, ๑๒, ๑๓  เป็นการสงเคราะห์บิดามารดา  บุตร ภรรยา  แต่การสงเคราะห์ญาติแทนที่จะอยู่ต่อมาเป็นมงคลที่ ๑๔  กลับเป็นมงคล  ที่ ๑๗  โดยต้องฝึกทำงานเป็นในมงคลที่ ๑๔  บำเพ็ญทานในมงคลที่ ๑๕ และประพฤติธรรมมีความเที่ยงตรงไม่ลำเอียงในมงคลที่ ๑๖ ก่อน  จึงจะสงเคราะห์ญาติ  ทั้งนี้เพื่อป้องกันการเล่นพรรคเล่นพวกให้เสียธรรม

 **************************************************   อานิสงส์การสงเคราะห์ญาติ

            ๑. เป็นฐานป้องกันภัย  ศัตรูหมู่พาลทำอันตรายได้ยาก

            ๒. เป็นฐานอำนาจ  ให้ขยายกิจการงานได้ใหญ่โตขึ้น

            ๓. เป็นบุญกุศล

            ๔. เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวน้ำใจกัน

            ๕. ทำให้สนิทสนมคุ้นเคยกัน

            ๖. ทำให้เกิดความสามัคคีกัน

            ๗. ทำให้เกิดความจงรักภักดีต่อกัน

            ๘. ทำให้ตะกุลใหญ่โต  มั่นคง

            ๙. ทำให้มีญาติมากทุกภพทุกชาติ

            ๑๐. เป็นแบบอย่างที่ดีอนุชนรุ่นหลัง

            ๑๑. เป็นการสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีให้เกิดขึ้น

            ๑๒. เป็นเหตุให้เกิดสันติสุขไปทั่วโลก

                                                                        ฯลฯ

 **************************************************

            “ตระกูลใดที่หมู่ญาติได้ร่วมกันสร้างสรรค์จรรโลงวงศ์วาน ให้เป็นปึกแผ่นแน่นหนา จะเป็นที่เกรงขามแก่บุคคลทั้งหลาย แม้ผู้มุ่งร้ายก็ไม่กล้ามาเบียดเบียน ประดุจความหนาทึบแห่งกอไผ่ที่มีหนามแวดล้อมอยู่รอบข้าง ย่อมไม่มีใครเข้าไปตัดได้ง่ายๆ หรือเหมือนดังกอบัวที่เจริญงอกงามอยู่ในสระ ย่อมเป็นที่เจริญตาเจริญใจแก่ผู้พบเห็น”

 

หนังสือมงคลชีวิต 38 ประการ ฉบับทางก้าวหน้า

 โดย พระมหาสมชาย ฐานวุฑโฒ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น