วันเสาร์ที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2566

มงคลที่ 21 ไม่ประมาทในธรรม

                   มงคล ที ๒๑ ไม่ประมาทในธรรม

ในการก่อสร้างอาคาร

จำเป็นต้องมีเสาเป็นหลักค้ำจุนตัวอาคารไว้ฉันใด

ในการสร้างความดีทุกชนิด

ก็จำเป็นต้องมีความไม่ประมาท

เป็นแกนหลักรองรับฉันนั้น

******************************* 

ความไม่ประมาท คือ อะไร ?

            ความไม่ประมาท คือการมีสติกำกับตัวอยู่เสมอ ไม่ว่าจะคิด จะพูด จะทำสิ่งใดๆ ไม่ยอมถลำลงไปในทางที่เสื่อม และไม่ยอมพลาดโอกาสในการทำความดี ตระหนักดีถึงสิ่งที่ต้องทำ ถึงกรรมที่ต้องเว้น ใส่ใจสำนึกอยู่เสมอในหน้าที่ ไม่ปล่อยปละละเลย กระทำอย่างจริงจังและดำเนินรุดหน้าตลอดเวลา

            ความไม่ประมาทเป็นคุณธรรมที่สำคัญยิ่ง กล่าวได้ว่าคำสอนในพระ-พุทธศาสนาทั้งหมด เมื่อสรุปแล้วก็คือคำสอนให้เราไม่ประมาท ดังจะเห็นได้จากปัจฉิมโอวาทของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คือ

 

            “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บัดนี้เราจะเตือนเธอทั้งหลาย สังขารทั้งหลายเป็นของไม่เที่ยง มีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา เธอทั้งหลายจงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อมเถิด”

(มหาปรินิพพานสูตร)  ที. ม. ๑๐/๑๔๓/๑๘๐

 

ไม่ประมาทในธรรมหมายความว่าอย่างไร ?

            คำว่า “ธรรม” ในที่นี้หมายถึง คำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เวลาแปลเอาความท่านแปลว่าเหตุ  หมายถึงต้นเหตุ  ข้อธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าทุกข้อ ถ้าดูให้ดีแล้วล้วนแต่เป็นคำบอกเหตุทั้งสิ้นคือ บอกว่าถ้าทำเหตุอย่างนี้แล้ว จะเกิดผลอย่างนั้น เช่น ความขยันหมั่นเพียรเป็นเหตุให้เกิดความเจริญ ความเกียจคร้านเป็นเหตุให้เกิดความเสื่อม

            ดังนั้น ไม่ประมาทในธรรม จึงหมายถึง ไม่ประมาทในเหตุ ให้มีสติรอบคอบ  ตั้งใจทำเหตุที่ดีอย่างเต็มที่  เพื่อให้บังเกิดผลดีตามมานั่นเอง

ลักษณะของผู้ที่ยังประมาทอยู่

            ๑. พวกกุสีตะ คือพวกไม่ทำเหตุดีแต่จะเอาผลดี เป็นพวกเกียจคร้าน เช่น เวลาเรียนไม่ตั้งใจเรียนแต่อยากสอบได้ งานการไม่ทำ แต่ความดีความชอบจะเอา ไม่ทำประโยชน์แก่ใคร แต่อยากให้คนทั้งหลายนิยมชมชอบทานศีลภาวนาไม่ปฏิบัติ  แต่อยากไปสวรรค์ไปนิพพาน ฯลฯ

            ๒. พวกทุจริตะ คือพวกทำเหตุเสียแต่จะเอาผลดี เป็นพวกทำอะไรตามอำเภอใจ แต่อยากได้ผลดี เช่น ทำงานเหลวไหลเสียหาย แต่พอถึงเวลาพิจารณาผลงานอยากได้เงินเดือนเพิ่ม ๒ ขั้น  ปากเสียเที่ยวด่าว่าชาวบ้านทั่วเมือง  แต่อยากให้ทุกคนรักตัว ฯลฯ

            ๓. พวกสิถิละ คือพวกทำเหตุดีเล็กน้อยแต่จะเอาผลดีมากๆ เป็นพวกค้ากำไรเกินควร  เช่น จุดธูป ๓ ดอกบูชาพระ แต่จะเอาสวรรค์วิมาน มีนางฟ้าเทวดาคอยรับใช้นับหมื่นนับแสน  อ่านหนังสือแค่ ๑ ชั่วโมง  แต่จะเอาที่ ๑ ในชั้น  เลี้ยงข้าวเขาจานหนึ่ง  แต่จะให้เขาจงรักภักดีต่อตัวไปจนตาย

            รวมความแล้วผู้ที่ยังประมาทอยู่มี ๓ จำพวก  คือ

พวกไม่ทำเหตุดีแต่จะเอาผลดี 

พวกทำเหตุเลวแต่จะเอาผลดี 

พวกทำเหตุน้อยแต่จะเอาผลมาก 

             ส่วนผู้ไม่ประมาทในธรรม  มีคุณสมบัติตรงข้ามกับคน ๓ จำพวกดังกล่าว  คือจะต้องไม่เป็นคนดูเบาในการทำเหตุ ต้องทำแต่เหตุที่ดี ทำให้เต็มที่ และทำให้สมผล ผู้ที่ไม่ประมาททุกคนจะต้องมีสติอยู่เสมอ

 

สติ คือ อะไร ?

            สติ คือความระลึกนึกได้ถึงความผิด-ชอบ-ชั่ว-ดี เป็นสิ่งกระตุ้น เตือนให้คิดพูดทำในสิ่งที่ถูกต้อง  ทำให้ไม่ลืมตัว  ไม่เผลอตัว  ใช้ปัญญาพิจารณา ใคร่ครวญสิ่งต่างๆ ได้

 

หน้าที่ของสติ

            ๑.สติเป็นเครื่องทำให้เกิดความระมัดระวังตัว ป้องกันภัยที่จะมาถึงตัว  คือระแวงในสิ่งที่ควรระแวง  และระวังป้องกันภัยที่จะมาถึงในอนาคต

            ความระแวง  หมายถึง ความกริ่งเกรงล่วงหน้าว่าจะมีความเสียหาย อันใดเกิดขึ้น  เช่น  คนขับรถขณะฝนกำลังตก  ถนนลื่น  ก็ระแวงว่ารถจะคว่ำ  ระแวงว่าจะมีรถอื่นสวนมาในระยะกระชั้นชิด

            ส่วนความระวัง  คือการป้องกันไม่ให้ภัยชนิดนั้นๆ เกิดขึ้น  เช่น     ลดความเร็วลง  ตั้งใจขับมากขึ้น  อย่างนี้เป็นต้น

            ๒. สติเป็นเครื่องยับยั้ง เตือนไม่ให้ตกไปในทางเสื่อม 

            ๓. สติเป็นเครื่องกระตุ้นเตือนให้ขวนขวายในการสร้างความดี 

            ๔. สติเป็นเครื่องเร่งเร้าให้มีความขะมักเขม้น  คือเมื่อเตือนตัวเองให้ทำความดี

            ๕. สติเป็นเครื่องทำให้เกิดความสำนึกในหน้าที่อยู่เสมอ 

            ๖. สติเป็นเครื่องทำให้เกิดความละเอียดรอบคอบในการทำงาน  

 

คำอุปมาสติ

            สติเสมือนเสาหลัก เพราะปักแน่นในอารมณ์ คือคนที่มีสติเมื่อจะไตร่ตรองคิดในเรื่องใด ใจก็ปักแน่นคิดไตร่ตรองในเรื่องนั้นอย่างละเอียดถี่ถ้วน ไม่คิดฟุ้งซ่านไปเรื่องอื่น คิดไตร่ตรองจนเข้าใจแจ่มแจ้ง ทะลุปรุโปร่ง ท่านจึงเปรียบสติเสมือนเสาหลัก

            สติเสมือนนายประตู คือเพราะสติจะทำหน้าที่เสมือนนายประตู คอยเฝ้าดูสิ่งต่างๆ ที่จะผ่านเข้ามากระทบใจ ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ตลอดจนเฝ้าดูถึงอารมณ์ที่ใจคิด ถ้าสิ่งใดเกิดขึ้นสติก็จะใคร่ครวญทันทีว่า ควรปล่อยให้ผ่านไปหรือไม่  หรือควรหยุดไว้ก่อน  ปรับปรุงแก้ไขให้ดีเสียก่อน

            สติเสมือนขุนคลัง เพราะคอยตรวจตราอยู่ทุกเมื่อ ว่าของที่ได้เข้ามาและใช้ออกไปมีเท่าไร งบบุญงบบาปของเราเป็นอย่างไร ตรวจตราดูอย่างละเอียดถี่ถ้วน ไม่ยอมให้ตัวเองเป็นหนี้บาป

            สติเสมือนหางเสือ เพราะสติจะเป็นตัวควบคุมเส้นทางดำเนินชีวิตของเราให้มุ่งตรงไปสู่ความสำเร็จตามเป้าหมายที่วางไว้ ไม่หลงไปทำในสิ่งที่ไม่ควรเหมือนคอยระมัดระวังไม่ให้เรือไปเกยตื้น

 

ประโยชน์ของสติ

            ๑.ควบคุมรักษาสภาพจิตให้อยู่ในภาวะที่เราต้องการ   

            ๒.ทำให้ร่างกายและจิตใจอยู่ในสภาพเป็นตัวของตัวเอง 

            ๓.ทำให้ความคิดและการรับรู้ขยายวงกว้างออกไปได้โดยไม่มีสิ้นสุด

            ๔.ทำให้การพิจารณาสืบค้นด้วยปัญญาดำเนินไปได้เต็มที่

            ๕.ชำระพฤติกรรมทุกอย่าง ทั้งกาย วาจา ใจ ให้บริสุทธิ์  

การฝึกสติให้เป็นคนไม่ประมาท

            ๑.มีสติระลึกถึงการละเว้นทุจริตทางกาย วาจา ใจ อยู่เนืองๆ   มิได้ขาด 

            ๒.มีสติระลึกถึงการประพฤติสุจริตทางกาย วาจา ใจ อยู่เนืองๆ มิได้ขาด 

            ๓.มีสติระลึกถึงความทุกข์ในอบายภูมิอยู่เนืองๆ มิได้ขาด 

            ๔.มีสติระลึกถึงความทุกข์ อันเกิดจากการเวียนว่ายตายเกิดของสัตว์ในวัฏสงสารอยู่เนืองๆ มิได้ขาด  

            ๕.มีสติระลึกถึงกรรมฐานภาวนาที่จะละราคะ โทสะ โมหะ ให้ขาดจากสันดานอยู่เนืองๆ มิได้ขาด  

 

สิ่งที่ไม่ควรประมาทอย่างยิ่ง

            ๑. ไม่ประมาทในเวลา 

            ๒.ไม่ประมาทในวัย 

            ๓.ไม่ประมาทในความไม่มีโรค  

            ๔.ไม่ประมาทในชีวิต อย่างทุ่มเทไม่ออมมือ ทำงานไม่ให้คั่งค้าง ไม่ท้อถอย ไม่ผัดวันประกันพรุ่ง

            ๖.ไม่ประมาทในการศึกษา    

             ๗.ไม่ประมาทในการปฏิบัติธรรม 

อานิสงส์การไม่ประมาทในธรรม

            ๑. ทำให้ได้รับมหากุศล

            ๒.ทำให้ได้ชื่อว่าเป็นผู้ไม่ตายสมดังพุทธวจนะ

            ๓.ทำให้ไม่ตกไปสู่อบายภูมิ

            ๔.ทำให้คลายจากความทุกข์

            ๕.ทำให้เพลิดเพลิน ไม่เบื่อหน่ายในการสร้างความดี

            ๖.ย่อมมีสติอันเป็นทางมาแห่งการสร้างกุศลอื่นๆ

            ๗.ย่อมได้รับความสุขในการดำรงชีพ

            ๘.เป็นผู้ตื่นตัว ไม่เพิกเฉยละเลยในการสร้างความดี

            ๙.ความชั่วความไม่ดีต่างๆ ย่อมสูญสิ้นไปโดยเร็ว

ฯลฯ

“ปมาโท มจฺจุโน ปทํ

ความประมาท เป็นทางแห่งความตาย

อปฺปมาโท อมตํ ปทํ

ความไม่ประมาท เป็นทางอมตะ”

ขุ. ธ. ๒๕/๑๒/๑๘

 

“เวลาใด บัณฑิตกันความประมาทด้วยความไม่ประมาท

เมื่อนั้น เขานับว่าได้ขึ้นสู่ปราสาท คือปัญญา

ไร้ความเศร้าโศก สามารถมองเห็นประชาชนผู้โง่เขลา

ผู้ยังต้องเศร้าโศกอยู่

เสมือนคนยืนอยู่บนยอดเขา

มองลงมาเห็นฝูงชน ที่ยืนอยู่บนพื้นดินฉะนั้น”

ขุ. ธ. ๒๕/๑๒/๑๘

 

 

หนังสือมงคลชีวิต 38 ประการ ฉบับทางก้าวหน้า

 โดย พระมหาสมชาย ฐานวุฑโฒ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น